วันเสาร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

“วันทอง” กับ “เรยา” ความต่างในความเหมือน และ ความเหมือนในความต่าง


        “ประหนึ่งว่าวันทองนี้สองใจ”
        ข้อความนี้เป็นข้อความที่ปรากฏบนหน้าหนังสือ “วรรณคดีวิจักษ์ ม.6” ซึ่งเป็นหนังสือวิชาภาษาไทยสำหรับนักเรียน ม.6 ฉบับกลางของกระทรวงศึกษาธิการ ในหมวดหมู่ของวรรณกรรม “ขุนช้างขุนแผน” ซึ่งผมกำลังเรียนอยู่ในขณะนี้
        หลังจากผมได้เรียนและรู้มาบ้างเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างขุนช้างขุนแผน และนางวันทองที่มีแต่เรื่องยุ่งเหยิงวุ่นวายตลอดมาตั้งแต่เล็กจนโต จึงได้เห็นแง่คิดบางอย่างที่แฝงและหยั่งรากลึกลงในหัวสมองคนไทยในรูปของ “ค่านิยม” อันที่จะต้องมาพิจารณาให้รู้เช่นเห็นชาติกัน
        “วันทอง” เป็นตัวหลักของละครที่ดูจะน่าสงสารมากที่สุด เพราะต้องโดนทั้งขุนแผนและขุนช้าง ทึ้งกันไปกันมาจนเกิดอาการ “สองใจ” ขึ้นมา คือ จะไปหาขุนแผนก็นึกได้ว่าตัวเองก็มีความผูกพันกับขุนช้าง ครั้นจะไปหาขุนช้างก็นึกได้ว่าตัวเองรักขุนแผน อาการที่ “เลือกไม่ลง” เช่นนี้จึงทำให้นางถูกพระพันวษาสั่งประหารชีวิตในที่สุด
        ดังนั้นเอง คนสมัยปัจจุบันจึงมักจะเปรียบผู้หญิงที่มี “สองใจ” คือคบผู้ชายสองคนว่า “วันทอง”
        ตัวละครอย่างนางวันทอง ถูกยกจากนักอะไรต่อมิอะไรว่าเป็นตัวอย่างของสิ่งที่ไม่ดี ที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น แล้วก็โปรกันแบบเช้ากลางวันเย็นว่าคนเรามันต้องจริงใจ จะว่า “ผัวเดียวเมียเดียว” ก็ได้ ไม่ผิดไปจากที่ว่ากันไว้
        ทีนี้ เราที่ไม่ค่อยจะเชื่ออะไรง่าย ๆ ก็ต้องมานั่งคิดใคร่ครวญกันว่า ที่นางวันทองต้องโดนตราหน้าอย่างนั้น เป็นเพราะอะไร

        ก็ไปพบว่าที่ทำให้นางต้องกลายเป็นคนสองใจจนเราเผลอ ๆ ไปนั่งด่านั้น ก็เพราะว่านางเกิดความลังเลใจว่าจะอยู่กับใครดีระหว่างขุนช้างกับขุนแผน คือ แต่เดิมนางมีความรักใคร่กับขุนแผน ตั้งแต่ขุนแผนยังเป็นพลายแก้ว และเป็นเพื่อนเล่นหัวกับขุนช้างกันมาแต่เด็ก ๆ แล้วขุนช้างก็มีใจรักในตัวนางแต่นางไม่ยินยอม ทั้งสามคนไม่นึกว่าจากการเล่นกันตอนเด็ก ๆ ที่ให้พลายแก้วกับนางพิม (วันทอง) เป็นผัวเมียกันแล้วให้ขุนช้างทำทีเป็นแย่งกันนั้นจะเป็นความจริง
        เรื่องวุ่นวายก็เนื่องมาจากผู้ชายสองคนมีใจปฏิพัทธ์สัมพันธ์ในผู้หญิงคน เดียว โดยขุนแผนได้นางวันทองเป็นภรรยา ขุนช้างก็หาเล่ห์กลทุกทางที่จะชิงตัวนางให้ได้ ตั้งแต่การเก็บกระดูกหมากระดูกควายใส่หม้อดินมาหลอกนางว่าขุนแผนตายแล้ว เข้าทำลายต้นโพธิ์ที่ขุนแผนกับนางตั้งสัจจอธิษฐานร่วมกันจนเหี่ยวเฉา เพื่อลวงให้นางเข้าใจว่าขุนแผนตายแล้วอีกเช่นกัน หรือการลวงพลายงาม ซึ่งเป็นลูกของนางซึ่งเกิดแต่ด้วยขุนแผน ไปฆ่า อย่างที่ว่า “เอาขอนไม้ทับคอแทบมรณา” อย่างนี้เป็นต้น ซึ่งการทั้งหลายสำเร็จหลายครั้งและส่วนใหญ่ก็จะไม่พ้นเรื่องของการฉุดคร่า
        เมื่อนางมาอยู่กับขุนช้าง แม้รู้ว่ามาโดยมิเต็มใจ แต่เมื่ออยู่กันนาน ๆ แล้วก็ย่อมมีความผูกพันเป็นธรรมดา ในบางครั้งจึงไม่อยากจากเวลาขุนแผนมาชิงคืน แม้ว่าตัวนางจะรักขุนแผน จึงส่อแสดงว่านางมีความผูกพันกับทั้งสองคนพอ ๆ กัน มีระยะเวลาที่อยู่กับแต่ละคนพอ ๆ กัน
        แต่ที่นางวันทองสองใจนั้นมิใช่แค่การกระทำของตัวนาง หรือพูดง่าย ๆ ว่าถ้าจะเอาผิดก็อย่าเอาผิดเพียงแค่นางเท่านั้น ขุนแผนเองก็มีส่วน คือ ความเจ้าชู้ของขุนแผนที่ “อยู่ที่ไหนก็ได้ที่นั่น” ไม่ว่าจะเป็นนางลาวทองซึ่งได้มาเมื่อศึกที่จอมทอง นางแก้วกิริยาข้าของขุนช้าง นางบัวคลี่ลูกของหมื่นหาญ หรือแม้แต่นางสายทองซึ่งเป็นพี่เลี้ยงของนางวันทองเอง ถึงขนาดปล้ำผีลุกปลุกผีนั่งกันคาผ้าเหลืองในกุฏิกันเลยทีเดียว
        ความเจ้าชู้ หลายใจของขุนแผนนั่นเอง ทำให้นางวันทองเกิดความระแวง สงสัยในความสัมพันธ์ของทั้งสองคน และทำให้คำอ้างของขุนช้าง “สมอ้าง”
        สำหรับขุนช้างก็มีส่วนผิด คือ ทั้งที่รู้อยู่เต็ม ๆ ว่าขุนแผนกับนางวันทองรักกันอยู่ แต่ก็จะหาลู่ทางที่จะแยกและชิงตัวกันเสมอมา กำจัดศัตรูหัวใจกันจนเกือบจะถึงแก่ชีวิตก็มี
        นั่นคือ ทั้งสามคนต้องมีส่วนในความรับผิดชอบที่ทำให้นางวันทองต้อง “สองใจ” และถูกประหารชีวิตจากการ “สองใจ” นั้น
        ใช่ คนที่ต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวนี้ ไม่ใช่เพียงแค่นางวันทองคนเดียว หรือแม้แต่คนนอกอย่างนางศรีประจันต์ นางทองประศรี พลายงาม หรือแม้แต่พระพันวษาเองก็มีส่วนเช่นกัน มากบ้างน้อยบ้างตามแต่จะเกี่ยวข้อง

        แต่กลายเป็นว่า สังคมกลับพุ่งเป้าไปที่ผู้หญิงที่ชื่อ “วัน ทอง” จนกลายเป็นตัวรับบาปไป เห็นว่าประมาณ 3-4 ปีที่แล้วก็มีเพลงในฝ่ายไทยสากลสมัยใหม่ชื่อว่า “วันทอง” ออกมา นั่นก็คือเคสหนึ่ง โดยที่เราอาจจะลืม (หรือแกล้งลืม) ว่าทั้ง ๆ ที่เห็นว่าขุนแผนและขุนช้างเข้ารุมแย่งนางวันทอง สรรหากลเม็ดสรรพวิธีต่าง ๆ ที่จะสามารถดิสเครดิตกันและกัน ไม่สนใจว่าจะเป็นทางดีหรือร้าย หรือจะเสียชีวิตคนไปกี่คนก็ตาม ทำไมต้องรุมด่าแต่นางวันทองเพียงผู้เดียว ?
        ไม่มองผู้ชายสองคนที่ก็สำคัญเหมือนกันว่ามันผิดอย่างไรบ้าง
        ชื่อเรื่องก็บอกอยู่ว่า “ขุนช้างขุนแผน” ทำไมไปด่า “วันทอง”
        งง ??

        ขุนช้างหาเรื่องแย่งเมียชาวบ้านทั้งบนดินใต้ดิน ส่วนขุนแผนก็กระไรเลย เจ้าชู้ หาเมียไปทั่ว พี่เลี้ยงของวันทองก็ไม่วายเว้น เป็น ชาละวัน เป็น...
        โอย...หลายเคสหลายเรื่องอยู่เหมือนกัน
        มันคือความ Paradox ของสังคมไทยที่ยังไม่เลิกแนวคิดที่ว่าผู้ชายเป็นใหญ่ ผู้ชายทำอะไรก็ไม่ผิด จะมีเมียน้อยกี่คน คบทิ้งคบทิ้ง ก็ไม่คิดจะแอะปากดุด่าอะไรสักคำ
        แต่พอผู้หญิงที่บังเอิญโดนเขียนเรื่องราวให้เป็นเช่นนั้น เป็นคนสองใจ โดยการฉุดไปฉุดมาของผู้ชายของคน จนลังเลใจว่าจะอยู่กับใครดี ไม่ได้เกิดมาจากความต้องการจะควงแบบควบสองของนาง กลับถูกวิจารณ์เละเทะว่าอีนี่มันไม่ดี อีนี่แหลกเหลว ส้นตีน เหี้ย ระยำ น้อง ๆ หนู ๆ ไม่ควรเอาอย่าง แล้วก็พูดกันจนกลายเป็นนิยายหลอกเด็กไปในที่สุด คนทุกเพศทุกวัยทุกฐานะบางคนที่อาจจะมีสมองไร้เดียวสาก็เชื่อกันเป็นเบือ สมใจคนพวกนี้แท้ ๆ
        มันเป็นแนวคิดที่ “กดขี่ผู้หญิง” เป็นสองมาตรฐานทางเพศที่ทำให้เราสามารถคาดเดาได้ว่าการกดขี่ผู้หญิงยังมี อยู่ในสังคมไทย โดยที่ปัญหานี้ดูท่าว่าจะ “แก้ยาก” เอาเสียด้วย
        เพราะคนชั้นกลางและพวกหัวเก่า แม้จะมีน้อย...
        แต่ “เสียง” ของคนพวกนี้
        เสือก “ดังกว่า” เสียงของคนชั้นล่างและพวกหัวก้าวหน้า
        คนพวกนี้เสียงดังกว่า จึงสามารถกำหนดทิศทางของสังคมได้ ถึงแม้แนวคิดของคนพวกนี้ จะล้าหลังหรือขัดกับกระแสเสรีนิยมของคนรุ่นใหม่ก็ตาม
        แถมไม่คิดที่จะสนใจกระแสโลกที่มันพัฒนาไปอย่างไม่หยุดไม่ยั้งเสียด้วย
        เป็นประเภท “เต่า” ที่เอามาวางลงบนลู่ ที่มีแต่คู่แข่งประเภท “ฟอร์มูล่าวัน” เรียงรายซ้ายขวา

        ผมมองแนวคิดของคนพวกนี้ว่ามันออกจะเอียงขวาไปเยอะ เป็นประเภท “ชาติ นิยม” ล้าหลัง พร้อม ๆ กับแนวคิดยึดคุณธรรม ยึดความดี ในที่มามาดดี มาดพระ มาดแม่ชี ทำตัวดี ๆ หน่อย ก็ดัง มีแฟนคลับเป็นของตัวเอง พอ ๆ กับทีวี เพลง ละคร อะไรทั้งหลายแหล่ ที่ร้ายที่สุดก็คือ การมองว่าผู้ปกครองที่ดี จะต้องเป็นคนดี มีคุณธรรม ทั้งที่ก็มีหลักการที่จะเลือกผู้ปกครองอยู่ คือ มาจากเสียงส่วนมากของประชาชนคนเลือก
        เพราะอย่างนี้นี่เอง ชนชั้นกลางและพวกหัวเก่าจึงเชื่อคณะยึดอำนาจว่าดี เห็นชื่อว่าดี เลยคิดว่าทำดี เวลาเกิดรัฐประหาร จึงเห็นคนพวกนี้เอาดอกไม้ไปให้ทหาร ถ่ายรูปคู่กับทหาร ซึ่งภาพแบบนี้ไม่มีวันได้ไปผุดไปเกิดในประเทศที่พัฒนาแล้วแน่นอน
        แนวคิดทางการเมืองที่ขัดแย้ง ลักลั่น น่างุนงง ฉงนสงสัย มันมาเกิดที่ประเทศด้อยพัฒนาชื่อ “ประเทศไทย”
        ผมคิดว่า เวลาที่เราจะหาจุดอ่อนของตัวเอง เราไม่ต้องมานั่งสร้างภาพตัวเองโดยใช้คำพูดที่ดูดี อย่าง “ประเทศกำลังพัฒนา” ซึ่งคำพวกนี้ไปบั่นทอนการมองปัญหาของคนที่สติปัญญาไม่ค่อยดีพอ ให้คนพวกนี้ได้กระตือรือร้นในการมองปัญหาน้อยลง บางทีสิ่งบางสิ่งอาจถูกเรียกคนละอย่าง จากคนสองชนชั้น เช่น ชนชั้นล่างจะเรียกคนที่เก็บเกี่ยวข้าวเหน็ดเหนื่อยตัวเป็นเกลียว มีชีวิตขึ้น ๆ ลง ๆ แปรผันกับสภาพอากาศฟ้าดินว่า “ชาวนา” ในขณะเดียวกัน ชนชั้นสูงกับกลางจะเรียกคนพวกเดียวกันว่า “เกษตรกร” ซึ่งทำให้แง่มุมการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์มันหมดไปหรือถูกบั่นทอน
        คือ ถ้าจะบอกว่าผมไม่ดี ไม่ดียังไง ก็บอกต่อหน้าผมโพล่ง ๆ เลยว่า “ไอ้เหี้ย” บอกมาเลย ไม่ต้องมาดัดจริตเหนียมอายกัน และผมจะไม่ถือว่าเป็นคำด่าด้วย
        ผมจะได้ดูตัวเองว่ามัน “เหี้ย” ยังไง
        จะได้ไม่ต้องหลงตัวเองว่า “วิเศษ” กว่าคนอื่นเหมือนเช่นทุกวัน
        เบื่อวิธีการทางจิตวิทยาที่ว่า “องุ่นเปรี้ยว มะนาวหวาน” เพื่อปลอบประโลมจิตใจสักที
        ไอ้เรื่อง “เฟค” ตามช่องทางต่าง ๆ อยากจะ “พอกันซักที”

        กลับมาที่เรื่องของวันทอง
        นางวันทองดูจะเป็นตัวละครในวรรณคดีไทยที่ “ประหลาด” ตามความเข้าใจของบรรดาชนชั้นกลางที่มองวรรณคดีไทยแบบเข้าใจแต่ไม่ละเอียด โดยคนพวกนี้จะมองว่านางเอกของเรื่องต่าง ๆ จะเป็นคนดี เป็นกุลสตรี เรียบร้อย ทำตัวให้มีมารยาทดี เก็บเนื้อเก็บตัวให้ดี รอเจ้าชายหรือพระเอกมาเอาอยู่ในวัง หรือต้องหลบ ๆ ซ่อน ๆ ตัวอยู่ในผอบ รอวันที่เจ้าชายสะดุดตีนมาเปิด นั่นแหละถึงจะมองว่าดี
        ก็มีแต่ “วันทอง” นี่แหละที่ไม่น่าจะเป็นนางเอกได้เลยเพราะอาการ “สองใจ”
        แนวคิดเช่นนี้ ที่ว่านางเอกจะต้องดี ดี และดี ได้กลายมาเป็นพื้นฐานของละครโทรทัศน์แทบทุกเรื่องในปัจจุบัน แทบทุกเรื่องจะเห็นได้เลยว่า พระเอกจะรวย สูงศักดิ์ ก็ไปพบ ปิ๊งกับนางเอกที่มีฐานะต่ำ จน แต่มีความดี
        คือ “ไม่รวย” แต่เอา “ความดี” มาทดแทน
        แล้วคนดูก็จะรอว่าพระเอกจะป้อ จะล่อ จะม่อ นางเอกกันอย่างไร

        เห็นจะมีละครโทรทัศน์เรื่องหนึ่งซึ่งมีความ “ประหลาด” กว่าเรื่องอื่น ๆ จนเรียกได้ว่าแทบจะเอาก้นชนกันเพราะมันเป็นคนละแนวกัน ก็คือ ละครที่จบกันไปเกือบครึ่งปีที่ช่วงนั้นก็มีการวิจารณ์กันมันปากมันตับ แถมมันตีนอีกต่างหาก
        ใช่...
        “ดอกส้มสีทอง” นั่นเอง
        เมื่อพูดถึง “ดอกส้มสีทอง” จะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่พูดถึงนางเอกที่มีชื่อว่า “เรยา”
        บางคนอาจจะตั้งคำถาม สงสัย และก่นด่าไปด้วยว่าทำไม...
        “เรยา” ถึงได้เป็น “นางเอก ?!”
        และบางคนก็อาจจะเห็นการแสดงของ “เรยา” ที่ถือได้ว่า “แรง” และ “เลว” พยายามที่จะหาผัวรวย ๆ ได้ทุกทางโดยไม่สนใจใคร แค่ฟังเพลง “ให้เลวกว่านี้” ที่ปาน ธนพร ร้องประกอบละครเรื่องนี้ก็สามารถอธิบายได้แล้วว่าเป็นอย่างไร
        หลายคนจึงสงสัยว่า อีนี่ไม่มีอะไรเหมาะสมเลยที่จะเป็นนางเอก แถมปากคอเราะร้าย มีอยู่ เป็นอยู่ ไม่เคยเจียมตัว ต้องการ โหยหิว ไปเรื่อย ๆ ทั้งเงินทอง ทั้งผัว กินไม่เลือก แถมยังด่าพ่อล่อแม่แบบไม่แคร์หนังหน้าใคร ๆ ทั้งสิ้น
        ก็จะเกิดสิ่งเดิม ๆ ก็คือ “กลัว” ว่าเยาวชนจะเอาสิ่งนี้ไปเป็นเยี่ยงอย่าง ไปปฏิบัติตามให้สังคมเกิดความเสียหาย แล้วศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรมก็จะเรียงหน้าออกมาถล่มคนเขียน คนทำ คนกำกับ ว่าจะทำให้วัฒนธรรมไทยเสื่อม จนประชาชนคนดู “มึนตึ้บ” ไปหมด ไม่รู้ว่าตีนใครเป็นตีนใคร สุดท้ายก็ “เมาหมดสติ”
        เยี่ยง “หมา”

        ประเด็นที่คนที่ชอบอ้างว่าตัวเอง “รัก วัฒนธรรมไทย” จะงัดออกมาเล่น ก็คือ เรยาไม่รู้จักรักษาวัฒนธรรมไทยที่ดี ไม่เป็นกุลสตรี เลวทั้งกาย วาจา ใจ ไม่สนใจใครว่าจะมองยังไง
        อีหรอบเดิมก็คืองัดเอาวัฒนธรรมไทยมาสู้กับ “เรยา” ทุกรูปแบบ ชูสิ่งที่คิดว่ามัน “ดีงาม” จนน่าเวียนหัว
        คือ คนพวกนี้น่าจะเสพละครแบบที่นางเอกดีแบบไม่มีที่ติ ไม่แรด ไม่ร่าน ยั่วยวนพระเอก นมเล็ก นางร้ายต้องนมโตเท่าลูกมะพร้าว สวยกรีดใจผู้ชาย แรดร่านให้ถึงใจ ซึ่งลักษณะของนางร้ายแบบนี้คนพวกนี้มักจะไม่นิยมเป็นหรือมีนิสัยแบบนั้น (ส่วนมากจะเกิดจากอาการดัดจริต ฝืนใจ จนบางครั้งก็ไม่แนบเนียน) ทว่า กลับไปห้ามนางเอกไม่ให้เป็นเช่นนั้นด้วย
        แล้วมีสิทธิ์อะไรที่จะบังคับให้นางเอกละครต้องเป็นเช่นนั้น ?
        ผมบอกไว้เลยนะครับว่าถ้าพวกคุณจะเอาอดีตมาอ้างว่าตอนโน้นมีแต่สิ่งดีงาม ผู้ชายผู้หญิงคบหากันจริงใจ อยู่ในวัฒนธรรมอันดีงาม ลูกต้องมีลักษณะแบบกตัญญูกตเวทีจนแทบจะตกเวทีเวลาขนดอกมะลิไปไหว้ที่ โรงเรียนสมัยอยู่อนุบาล นั่นคือมายาคติที่จะหลอกเราว่าบ้านเมืองแต่ก่อนมีแต่ความสงบ งดงาม เหมือนความฝัน ที่คนพวกนั้นกำลังฝันอยากให้ไปเป็นแบบนั้น (ก็คงจะเป็นความฝันลม ๆ แล้ง ๆ เพราะสมัยก่อนมันก็ไม่ใช่แบบที่คนพวกนั้นคิด)
        อยากให้ลองไปหาบทละครนอกเรื่อง “มโนห์รา” ฉบับหอสมุดแห่งชาติมาอ่านดูครับ
        มโนห์ราเป็นนางเอกในวรรณคดีไทยที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงในทางลบ เสียหาย เท่ากับนางวันทอง แต่ภาพลบของนางมโนห์รานั้นอาจจะ Radical ไปแบบถ้าเป็นตัวเป็นตนในปัจจุบันก็อาจจะทำให้ศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรมต้อง เนื้อเต้นเป็นจังหวะแทงโก้ก็อาจจะเป็นได้
        ตึ้บ...ตึ้บ...ตึ้บ ตึ้บ ตึ้บ กันเลยทีเดียว

        อยากให้ท่านอ่านบทความ “The good old days ?” ของ “นิพัทธพร เพ็งแก้ว” หรือ “นางมโนห์รา ด่าเป็นไฟ” ของ “สุจิตต์ วงษ์เทศ” หรือจะไปค้นหาเทปรายการ “คิดเล่นเห็นต่างกับคำผกา” ซึ่งจัดโดย “ลักขณา ปันวิชัย” หรือ “คำ ผกา” ในตอนที่ชื่อว่า “จาก ลัดดา ถึง เรยา” ซึ่งออกอากาศในวันที่ 15 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ซึ่งทั้งสองส่วนนี้ต่างกล่าวถึง “มโนห์รา” ว่านอกจากความสวยแล้ว ยังมีอะไรบางสิ่งที่เรา ๆ ก็คาดไม่ถึง
        ขอยกข้อความบางส่วนของ The good old days? มาอ้างอิงครับ

        วันเก่าๆ ของเมืองไทย ในเรื่องสัมพันธภาพทางเพศนั้น มันงดงามอย่างที่เชื่อกันมาจริงๆ ด้วยหรือ­ มันเคยมี the good old days  อยู่จริงแค่ไหน­ เมืองไทยเมื่อก่อน วัยรุ่น หญิง-ชาย ผัวๆเมียๆ ในสังคม เขาเคยอยู่กันมาอย่างไร
        แต่ก่อนดิฉันก็เชื่ออย่างที่เชื่อๆ กันมานั้นแหละ แต่การลงทำงานภาคสนามเก็บข้อมูลจากชาวบ้านมากมาย มันคนละเรื่องกันไปเลย หลักฐานในงานวรรณกรรมเป็นลายลักษณ์อักษร มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนกลาง รุ่นบรรพบุรุษเราเลย รุ่นแสนจะ “คลาสสิค” ของไทยนั้นแหละ รุ่นที่เราเชื่อๆ ว่าบ้านเมืองดีสงบงดงาม ผู้คนอยู่กันเหมือนภาพในฝัน ลองไปอ่าน “บทละครครั้งกรุงเก่าเรื่องนางมโนห์รา” ฉบับหอสมุดแห่งชาติดูเถิด นั่นน่ะบอกชัดเลยว่า ผู้หญิงไทยเคยอยู่กันมาอย่างไร และแม่ด่าลูก ลูกด่าสวนกลับแม่ มันรุนแรงยิ่งกว่าปากตะไกร ยิ่งกว่าเอาน้ำกรดสาดในสมัยนี้ ซะด้วยซ้ำ  เพราะอีตอนที่หม่อมแม่ห้ามนางมโนห์รา ไม่ให้ติดปีก ”บิน” ออกไป “แร่ด” เล่นน้ำ หม่อมแม่อ้างสารพัดทั้งความรัก ความหวง ความห่วงลูกสาว จนนางมโนห์รา “นางเอก” จากนิทานชาดกถึงกับตัดพ้อยอดคุณแม่เอาอย่างถึงพริกถึงขิงเลยว่า “น่าสงสารพระมารดา อนิจจามาหวงลูกเอาไว้ แก่แล้วแม่จะค่อยให้ ผู้ชายที่ไหนจะเหลียวแล ธรรมเนียมมาแต่ไหน ใหญ่ใหญ่มานอนอยู่กับแม่ แกล้งหวงเอาไว้ให้เฒ่าแก่ ผู้ชายมาแลก็น่าเกลียด”
        อันนี้ลูกสาวสมัยอยุธยาพูดเองเลยว่า หวงไว้แต่ในบ้าน ได้แก่คาบ้าน ชะดีชะร้ายหาผัวไม่ได้พอดี คราวนี้คุณแม่สมัยอยุธยาถึงกับลมออกหู แว้ดใส่เลยว่า “ตัวเจ้ายังน้อยสักเท่าเขียด เจ้ามาวอนแม่จะมีผัว ....ลูกเอยจะเลี้ยงเอาผัวแขก ลูกเอยจะเลี้ยงเอาผัวไทย เลี้ยงไว้ให้หนำใจ ส่งให้อ้ายมอญมักกาสัน ส่งให้อ้ายจีนปากมอด ให้มันกอดจนตายดั้น อ้ายมอญมักกาสัน ส่งให้ญี่ปุ่นหัวโกน เลี้ยงลูกชาวบ้านเอย อีนี่ใจยักษ์ใจโลน อ้ายญี่ปุ่นหัวโกน หนำใจผู้เจ้ามโนห์รา”
        นางมโนห์ราโดนด่าขนาดนี้ ว่าจะออกไปมีผัวนานาชาติรึไง มีหรือนางจะน้อยหน้า นางด่าแม่กลับเอาเลยว่า “ลูกไทเจ้าแม่เอย  แม่ให้ผัวไทยแก่ลูกรา จีนจามพราหมณ์คุลา ลูกยาจะเอามันทำไม เชิญแม่เอาเองเถิดนางไท เป็นผัวพระราชมารดา”
        คราวนี้แม่-ลูกตะลุมบอน แลกหมัดคนละตุบละตับ ด้วยคำแสบเจ็บใจอย่างไม่ต้องยั้ง
        “เลี้ยง ลูกชาวบ้านเอย อีนี่ใจแข็งใจกล้า กูจะพลิ้วหิ้วขา หน้าตากูจะตบให้ยับไป ไว้กูจะหยิกเอาหัวตับ ไว้กูจะยับเอาหัวใจ ปากร้ายมาได้ใคร พวกอีขี้ร้ายชะลากา ขวัญข้าวเจ้าแม่อา ตัวแม่ก็ทำเป็นไม่สู้ รู้มากอีปากกล้า มึงไปได้มาแต่ไหน พระพายพัดไป สมเพชลมพัดอีดอกทอง”
        อย่าลืมนะจ๊ะ ว่านี่เป็นสำนวนของแม่รุ่นอยุธยา สมัยคลาสสิคของไทยด้วยนะจ๊ะ ไม่ใช่คนถ่อยๆ สมัยนี้พูดกัน แม่รุ่นโบราณนั้นเขาให้พรลูกสาวอย่างเป็นสิริมงคลมาแล้วว่า “อีดอกทอง” ส่วนลูกนั้น อนิจจังอนิจจา...สวนกลับได้สาหัสหนักหนา ทำให้แม่เต้นโลดแทบถลามาตบเอาได้ เพราะลูกจะ “ดอกทอง” เหมือนใครล่ะ ถ้าไม่ใช่ “นางแม่ของลูกอา แม่มาด่าลูกไม่ถูกต้อง ทั้งพี่ทั้งน้อง เหล่าเราดอกทองเหมือนกัน ดอกทองสิ้นทั้งเผ่า เหล่าเราดอกทองสิ้นทั้งพันธุ์ ดอกทองเสมือนกัน ทั้งองค์พระราชมารดา”

        ผมนั่งดู นั่งฟัง นั่งอ่านไป ก็มีแต่จะสูดปากซี้ดกับความจัดจ้านของบทละครนอกเรื่องนี้ ที่เรียกว่ามโนห์รา “ไม่ยอมใคร” แม้แต่แม่ตัวเองที่พยายามจะห้ามไม่ให้ไปลงเล่นน้ำกับพี่ ๆ เพราะกลัวจะถูกพรานบุญลักพาตัวไป
        อะไรก็มิทราบ แล้วทำไมถึงมาตัดสินว่าอันนี้ผิด อันนี้ไม่ผิด หรืออันนี้ผู้แต่งไม่มีชีวิตที่จะรอการวิจารณ์ จึงไม่วิจารณ์
        จึงเห็นมาตรฐานที่ไม่ใช่เป็นเพียง “สองมาตรฐาน” แต่มันเป็น “หลาย” และ “หลาย ๆ มาตรฐาน” ที่มีอยู่กับละคร วรรณคดีไทย
        ปัจจุบันกับอดีตก็มีเรต มีมาตรฐานที่ต่างกัน แถมในอดีตก็ยังมีเรตที่ต่างกันอีก อย่างวันทองทำไมถึงดอกทอง ระยำ สองใจ เผื่อเลือก แรด ร่าน แล้วทีมโนห์ราล่ะ
        นิ่ง...
        เหมือนโดน “ส้นตีน” ยัดปาก
        หรือเพราะมโนห์ราไม่ใช่วรรณคดีที่เป็นบทหลักในการศึกษาในระบบอย่างขุนช้าง ขุนแผน สามก๊ก ราชาธิราช พระอภัยมณี ที่เรา ๆ รู้จักกัน จึงไม่มีใครมาสนใจก้นบึ้งลึก ๆ ว่าตัวละครที่เรานั่งนึกชมว่าสวย ๆ แล้ว จะมีด้านลบแบบที่เราไม่คาดถึง

        ทั้งหมดทั้งปวงนั้นก็คือการพิจารณาว่าทำไมวันทองกับเรยาถึงโดนคนที่เคร่ง ศีลธรรมจรรยา “จัดหนักจัดเต็ม” ได้มากขนาดนี้ โดยที่เราอาจจะลืมไปว่าไม่ใช่เฉพาะทั้งสองคนเท่านั้นที่ทำให้เธอ ๆ ต้องเลว
        ถ้าจะให้มองถึงเรยา ก็แปลกประหลาดอยู่ว่าทำไมเรามานั่งด่าถึงความแรดร่านของเรยา จนลืมไปว่ายังมีสาเหตุปัจจัยอื่น ๆ อีก คือ ความชั่วของเจ้าสัวซึ่งมีเมียหลายคนและวันดีคืนดีก็ฆ่าเมียด้วยวิธีการสุด โหด
        รุนแรงกว่าเรื่องแย่งผัวเมียชาวบ้านเอาเสียอีก
        นั่นคือ โลกทัศน์ที่คับแคบไม่รอบด้านของชนชั้นกลางและพวกหัวเก่าที่ยังสำแดงอำนาจล้า หลัง ป่าเถื่อนกันในสังคมไทย ไม่ยอมรับกระแสความคิดแบบเสรีนิยมยุคใหม่ที่กำลังเข้ามาแบบน้ำท่วมน้ำหลาก
        ยึด “ความดี” ของบุคคลมากกว่า “ความสามารถ” และ “ความถูกต้อง”
        ทำให้ประเทศไทยต้องยุ่งเหยิงเพราะ “สงครามอำนาจ” กันอยู่ในขณะนี้

        “วันทอง” กับ “เรยา”
        ตัวละครต่างยุคต่างสมัย
        แต่ “โดนด่า” เละเหมือนกัน
        ถ้าจะให้ดัดจริตทำตัวเป็น “เอกยุทธ อัญชันบุตร” ผสมกับ “หนูดี” ก็คงจะบอกลักษณะนี้ได้ว่า
        “ขอพูดอะไรแรง ๆ สักครั้งในชีวิต...
        ไปเป็นกะหรี่ซะไป...!!”

20 พฤศจิกายน 2554

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น