วันเสาร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2554

“ตรังวิทยา” บทสรุปสุดท้ายของการต่อสู้ของนักเรียน “ร.ร.เอกชน” ก็ไล่ ผอ.ได้


เอื้อเฟื้อภาพทั้งหมดจาก “เว็บไซต์ผู้จัดการ”

        “บอกหน่อยได้ไหม บอกฉันก่อน ว่าเธอคิดถึงใคร...”
        เสียงเพลงที่ฟังดูแล้วก็จะรู้ว่า “เก่า” พอสมควร ดังขึ้นระหว่างการชุมนุมของนักเรียนโรงเรียนตรังวิทยา (ต.ว.) อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม ที่ผ่านมา เพียงฟังดูแล้ว เราก็พอจะรู้ว่านักเรียนของ ต.ว. ในขณะนี้กำลังคิดอะไรกันอยู่ เมื่อประกอบกับป้ายข้อความต่าง ๆ อาทิเช่น
        “60 ปี ต.ว. อย่าชิบหายเพราะอารีย์”
        “500 บาท ค่าห้องพัฒนาแล็บเอาไปไหนหมด”
        บวกกับใบปลิวที่มีการแจกให้กับนักเรียนไปทั่วบริเวณการชุมนุม ที่มีข้อความในลักษณะโจมตีว่า
        “ความ บ้าอำนาจเผด็จการไม่ยุติธรรมจะหมดไปจากตรังวิทยา ถ้าวันนี้เราสร้างความสามัคคีรวมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ขจัดอำนาจมืดให้หมดไป คืนความสงบสุขให้ชาวตรังวิทยา ด้วยความอาลัยยิ่ง อารีย์-สุพิศ ไปสู่ที่ชอบ”
        เราก็พึงจะทราบว่า เกิดอะไรขึ้นกับ ต.ว. ในขณะนี้
สัญลักษณ์โรงเรียนตรังวิทยา
        โรงเรียนตรังวิทยา เป็นโรงเรียนเอกชนชั้นนำขนาดใหญ่ 1 ใน 5 แห่งในจังหวัดตรัง โดยเป็นโรงเรียนของชาวจีนที่มาตั้งรกรากอยู่ในจังหวัดตรัง และเป็นสถานศึกษาที่นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรีเคยศึกษาอยู่ ปัจจุบันมีจำนวนนักเรียนอยู่ในระดับหลักพัน เปิดสอนตั้งแต่ชั้น ม.1-6
        โรงเรียนแห่งนี้มีผู้บริหาร ทั้งผู้รับใบอนุญาต ผู้จัดการ รวมถึงผู้อำนวยการมาหลายคน ผ่านการบริหารมาด้วยดีกว่าหลายสิบปี
        จนกระทั่งโรงเรียนอยู่ภายใต้การบริหารของผู้จัดการที่ชื่อ “นายอารีย์ อาภรณ์” และผู้อำนวยการโรงเรียนที่ชื่อ “นายสุพิศ เอียดชูทอง”
        ผู้บริหารสองคนนี้ ไปทำอะไรขึ้นมา นักเรียนจึงต้องรวมตัวกันขับไล่ ?!

        นายจักรกฤช ชุมด้วง ตัวแทนนักเรียน ม.6 ได้กล่าวกับแหล่งข่าวว่า นายอารีย์และนายสุพิศ เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งเมื่อไม่นานมานี้ ต่อจากนายจำรัส สรพิพัฒน์ และนายศิริภัณฑ์ ทยานกิจเจริญ ซึ่งเป็นผู้จัดการและผู้อำนวยการคนก่อนตามลำดับ และได้สร้างปัญหาขึ้นมาหลังจากที่ได้รับตำแหน่งมาไม่นาน  
        นั่นคือ เมื่อสอบเสร็จวันแรก ไม่นานมานี้เอง โรงเรียนไม่อนุญาตให้นักเรียนรับประทานอาหารก่อนเวลา 12.10 น. แต่นักเรียน ม.6 จำนวน 25 คน ทนหิวไม่ไหวจึงออกจากโรงเรียนไปรับประทานอาหารข้างนอก เมื่อกลับมาโรงเรียนจึงถูกโรงเรียนออกคำสั่งภาคทัณฑ์ อีกทั้งเชิญผู้ปกครองนักเรียนเหล่านี้มาพบ และสั่งให้เขียนใบลาออกทิ้งไว้ ซึ่งโรงเรียนจะเก็บไว้ พร้อมทั้งยังบอกอีกว่าหากทำผิดอีกจะไล่ออกทันที
        ซึ่งคำสั่งภาคทัณฑ์ต่อนักเรียน ม.6 ทั้ง 25 คนนี้ถือว่าเป็น “การกระทำเกินกว่าเหตุ” ของผู้บริหารโรงเรียน
        นอกจากนี้เอง ผู้บริหารทั้ง 2 คนยังใช้อำนาจตัดงบกิจกรรมนันทนาการต่าง ๆ เช่น วงโยธวาทิต และกีฬา อาทิ ฟุตบอล วอลเลย์บอล ซึ่งถือว่าเป็นกิจกรรมที่สร้างชื่อเสียงให้กับ ต.ว. ในระดับภาคมาแล้ว โดยผู้บริหารอ้างเหตุผลในการตัดงบเหล่านี้ว่า “สิ้นเปลืองงบ”
        ผู้บริหารยังบีบนักเรียน ม.6 จากที่มีอยู่ 3 ห้อง ให้เหลือเพียง 2 ห้อง ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนนักเรียนทั้งหมด 112 คน นั่นคือ เฉลี่ยแล้วจะมีนักเรียนแต่ละห้องคือ 56 คน  
        เรา ๆ ท่าน ๆ ที่อยู่โรงเรียนดัง ๆ ก็คงจะประสบเหตุการณ์เหล่านี้เช่นกัน เพียงแต่ว่า จำนวนนักเรียนในห้องมันไม่มากมโหฬารถึงขนาดนี้ครับ บางที 45 บ้าง 50 บ้าง
        แต่นี่ถึง 56 คน ซึ่งคิดได้อย่างแน่นอนว่าห้องที่อยู่กันนี้มันจะแออัดถึงขนาดไหน และจะดูแลกันทั่วถึงหรือไม่
        อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นการทำเกินกว่าเหตุ คือ การกลั่นแกล้งครูที่สอนอยู่มานานให้ลาออกไปโดยไม่เป็นธรรม

        สิ่งเหล่านี้จึงเป็นสาเหตุที่นักเรียนของ ต.ว. นำโดยประธานสภานักเรียนคือนายสุวิทย์ ทองผุด จัดการชุมนุม พร้อมกับยื่นหนังสือต่อสมาคมศิษย์เก่าและเขตพื้นที่การประถมศึกษาตรัง เขต 1 เพื่อให้มีหนทางการแก้ไขความวิบัติที่เกิดขึ้นใน ต.ว. นี้
        เรื่องราวเหล่านี้ในที่สุดจึงมีการเจรจากันจากทุกฝ่าย เกิดความตึงเครียดจนนักเรียนได้ยื่นคำขาดว่า จะต้องมีความเด็ดขาดในข้อสรุปภายในวันที่ 20 ธันวาคม ซึ่งหากคำตอบเป็นที่ไม่พอใจ จะจัดการชุมนุมอีก อีกทั้งจะเขียนใบลาออกทั้งโรงเรียนอีกด้วย
        เหตุการณ์นี้จะจบลงอย่างไร เป็นสิ่งที่นักเรียนของ ต.ว. และเรา ๆ ผู้ที่มีความห่วงใยในการศึกษาไทยทุกคน จะต้องเฝ้าติดตามดูอย่างใกล้ชิด และต่อเนื่อง
        ในปีนี้เองจังหวัดตรังเคยเกิดการชุมนุมของนักเรียนมัธยม ในช่วงต้นปี ซึ่งเป็นกรณีของนักเรียนโรงเรียนเอกชนเช่นกัน แต่เป็นโรงเรียนเอกชนประเภทโรงเรียนการกุศลในพระพุทธศาสนา หรือที่เราเรียกกันง่าย ๆ ว่า “โรงเรียนวัด” นั่นเอง
        เป็นกรณีของ โรงเรียนมัธยมวัดควนวิเศษมูลนิธิ (ม.ศ.ว.) ซึ่งได้จัดการชุมนุมประท้วงสื่อสารมวลชนท้องถิ่นในจังหวัดตรังที่ลงข่าวที่ มีเด็กตายจากการกระทำของครูเกินกว่าเหตุและยังบิดเบือนข่าว ทำให้เกิดความเสียหายทั้งญาติของเด็กผู้เสียชีวิต และทางโรงเรียน จนทำให้ลุกฮือกันทั้งโรงเรียน เป็นข่าวใหญ่กันมาแล้ว

        เหตุการณ์แบบนี้ คงจะเป็นเหตุการณ์ปิดท้ายการชุมนุมเพื่อเรียกร้องอำนาจ สิทธิ และเสรีภาพของนักเรียน ในปี 2554 ซึ่งจะเห็นได้ว่าทั้งปีมีไม่กี่เหตุการณ์ น้อยมากเมื่อเทียบกับปีก่อน ๆ เช่น 2552 หรือ 2553 ซึ่งมีกระแสเกิดขึ้นอย่างไม่ขาด อย่างที่ว่า การชุมนุมของโรงเรียนหนึ่ง สามารถเป็นแรงบันดาลใจให้นักเรียนอีกโรงเรียนหนึ่ง ซึ่งอาจจะอยู่คนละจังหวัด หรือคนละภาค ให้จัดการชุมนุมขึ้นได้
        โรงเรียนมัธยมของรัฐที่เกิดการชุมนุมขึ้นในปีนี้ ได้แก่
        1.โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) 2 (บ.ด.2) เขตบึงกุ่ม กรุงเทพมหานคร ซึ่งจัดการชุมนุม 2 ครั้ง ในวันที่ 22 และ 28 กุมภาพันธ์ เพื่อขับไล่นายกมล บุญประเสริฐ ออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการ ซึ่ง ผอ. คนนี้เคยไปก่อกรรมทำเข็ญกับนักเรียนโรงเรียนราชวินิตบางแก้ว (ร.ว.บ.) อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ มาแล้ว จนจะเห็นได้ว่า การชุมนุมของนักเรียน บ.ด.2 มีนักเรียนของ ร.ว.บ. เข้าผสมโรงด้วย และเมื่อมีกระแสข่าวว่า จะมีการย้ายไปดำรงตำแหน่งที่โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) (บ.ด.) ที่เขตวังทองหลาง ก็ถูกนักเรียนของ บ.ด. ขับไสไล่ส่ง ไม่ต้อนรับอีกต่างหาก
        เหตุการณ์นี้เป็นเหตุการณ์เดียวที่มีการเผยแพร่ออกข่าวในสื่อกระแสหลัก
        2.โรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภา 3 สุราษฎร์ธานี (ม.พภ.3) อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในวันที่ 11 กรกฎาคม ซึ่งมีการชุมนุมประท้วงและเผาโลงศพจนมีผู้บาดเจ็บด้วย
        3.โรงเรียนกกตูมประชาสรรค์ รัชมังคลาภิเษก (ก.ป.ส.) อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร ในวันที่ 21 กรกฎาคม ซึ่งเหตุการณ์นี้ยืดเยื้อมาตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว นักเรียนของ ก.ป.ส. เคยยื่นหนังสือต่อเขตพื้นที่ (ก่อนที่จะเป็น สพม.22 นครพนม-มุกดาหาร ซึ่งมีที่ตั้งในจังหวัดนครพนม) ให้ย้ายนายบุญเทศก์ บุษมงคล ออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการ แต่เรื่องก็เงียบไป จนต้องขับไล่อีกครั้งหนึ่ง โดยต้องโดยสารรถสองแถวข้ามจังหวัดเพื่อไปยื่นหนังสือต่อต้นสังกัดที่จังหวัด นครพนม
        4.โรงเรียนจัตุรัสวิทยาคาร (จ.ค.) อำเภอจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ ในวันที่ 5 กันยายน นักเรียนได้ชุมนุมที่หน้าที่ว่าการอำเภอจัตุรัส เพื่อขับไล่นายสมชาย คำพิทักษ์ ให้ออกจาก ตำแหน่งผู้อำนวยการ
        เหตุการณ์เหล่านี้เป็นเหตุการณ์ของนักเรียนมัธยมในโรงเรียนของรัฐในปีนี้ และพ่วงเหตุการณ์ล่าสุดของโรงเรียนเอกชนอย่างโรงเรียนตรังวิทยาเข้าไปด้วย จึงเป็น 5 เหตุการณ์

        ในวาระที่ปี 2554 นี้ใกล้จะสิ้นสุด และขึ้นปี 2555 ในอีกไม่ช้านี้ ขอเรียกร้องไปถึงเพื่อน ๆ และ น้อง ๆ นักเรียนที่ถูกกดขี่รังแกจากอำนาจมืด จากผู้บริหาร ในด้านต่าง ๆ ขอให้อย่ายอมจำนนต่ออำนาจมืดเหล่านี้ อย่าปล่อยให้อำนาจมืดมันรังแกเราทุกคนได้ จงยืนหยัดต่อสู้เพื่อสิทธิและเสรีภาพของเรา ด้วยใจที่สู้ และไม่ยอมแพ้ เพราะใจที่สู้เท่านั้น จะทำให้ทุกสิ่งของเรา เป็นไปตามที่เราต้องการ เพราะเรา “เป็นใหญ่” ในโรงเรียนของเรา
        ขอให้ทุกโรงเรียนประสบพบกับชัยชนะในการต่อสู้ และจะรอคอยดูชัยชนะของเพื่อน ๆ น้อง ๆ ทุกคน !!

22 ธันวาคม 2554

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น