วันพฤหัสบดีที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

“นักข่าวพลเมือง” ส่วนร่วมของประชาชนยุคดิจิตอล

        ไม่กี่วันที่ผ่านมามีปรากฏการณ์หนึ่งของโลกที่กำลังจะกลายเป็นประวัติศาสตร์และความทรงจำ คือ “โก ดัก” ซึ่งเป็นบริษัทเกี่ยวกับฟิล์มและอุปกรณ์ถ่ายภาพรายใหญ่ของโลกกำลังจะล้ม ละลายเนื่องจากกระแสเรื่อง “ดิจิตอล” ซึ่งมีลักษณะสำคัญคือ ง่าย เร็ว สะดวก เข้ามาทำลายรูปแบบเก่าของการถ่ายภาพซึ่งต้องใช้ฟิล์มและเวลาหมดก็ต้องวิ่ง เข้าร้านอัดรูป จนฟิล์มแทบจะหมดความสำคัญในกระบวนการถ่ายภาพในสมัยใหม่ อีกทั้งอุปกรณ์การถ่ายรูปที่ในขณะนี้ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นกล้องเสมอไป บางที “โทรศัพท์มือถือ” ก็กลายเป็นอุปกรณ์ถ่ายรูปไป และได้มีการพัฒนาฟังก์ชั่นเกี่ยวกับการถ่ายมาเรื่อย ๆ จนเรียกว่ามีมือถือเครื่องเดียวไม่ต้องซื้อกล้องเพราะมันชัดเหมือนกล้องมาก ซึ่งคนที่แก่ ๆ ในโลกก็คงจะทันได้เห็นความเปลี่ยนแปลงอันนี้
        เรื่องดังกล่าวนี้ถือว่าเป็นหนึ่งในร้อย ในพัน ในหมื่น ในแสน ในล้าน หรือในล้านล้านความเปลี่ยนแปลงบนโลกใบนี้ ซึ่งจะนำโลกเปลี่ยนผ่านการใช้ชีวิตแบบเก่าเข้าสู่แบบใหม่ เรามีวิทยาการใหม่ ๆ ที่สะดวกสบายเข้ามาสู่ชีวิตของเราเรื่อย ๆ และบางครั้งก็กระโดดมาเป็นของใช้สำคัญในบ้านเรา ส่วนใหญ่จะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น พัดลม โทรทัศน์ ตู้เย็น เตารีด เป็นต้น
        ยุค “ดิจิตอล” ถือเป็นสิ่งที่เราควรระลึกว่ามันกำลังคืบคลานเข้ามาสู่ชีวิตของเราแทนที่ยุค “อนาล็อก” ซึ่งมันกำลังจะจากไป บางอย่างก็หายไปจากบ้านเราแล้ว เช่น โทรเลข เป็นต้น

        ท่านคงจะได้ยิน ได้ฟัง ได้รับรู้คำว่า “นัก ข่าวพลเมือง” มาบ้างไม่มากก็น้อย ส่วนใหญ่จะได้รับชมมาจากโทรทัศน์ จากสถานีโทรทัศน์หลายช่องด้วยกัน เช่น Voice TV ก็เปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการนำเสนอและรายงานเหตุการณ์ต่าง ๆ โดยการส่งข่าว ภาพ ภาพเคลื่อนไหว ให้กับสถานีเพื่อจะนำลงจอต่อไป
        คำว่า “นักข่าวพลเมือง” นี้มีความน่าสนใจ เนื่องจากคำ ๆ นี้มันทรงพลังในยุคแห่งการสื่อสารยุคนี้เป็นอย่างมาก หลายเหตุการณ์ที่สำคัญ ๆ หากไม่ได้นักข่าวพลเมืองหรือผู้ที่เห็นเหตุการณ์จริงแล้วสามารถบันทึกเป็น ภาพหรือภาพเคลื่อนไหวได้ความจริงบางอย่างคงไม่กระจ่างก็เป็นได้
        นักข่าวพลเมือง อาจจะได้ข้อมูลที่สำคัญโดยไม่ได้ตั้งใจก็ได้ อาจจะเป็นไทยมุงในเหตุการณ์นั้น เช่น รถชน ทะเลาะวิวาท การชุมนุมประท้วง และบางครั้งสามารถเผยแพร่ข่าวได้ก่อนที่นักข่าวจริง ๆ จะไปทำข่าวเสียอีก และช่องทางการเผยแพร่ข้อมูลต่าง ๆ ไม่จำเป็นจะต้องเป็นโทรทัศน์หรือหนังสือพิมพ์เพียงอย่างเดียวเสมอไป เราสามารถเผยแพร่ตามสื่อประเภทอื่น ๆ ที่สำคัญในยุคนี้ก็คือ “Social Network” ซึ่งในขณะนี้ “เฟซบุ๊ค” ก็ยังครองความเป็นใหญ่ในด้านนี้อยู่ไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งก็มี “ทวิตเตอร์” ตามมาอย่างติด ๆ ครับ
        นอกจากจะเป็นข่าว การนำเสนอเหตุการณ์ โดยมีการวิเคราะห์ วิจารณ์ ในรูปของบทความ หรือร้อยกรองต่าง ๆ ก็สามารถนำเสนอลงสื่อสารแนวใหม่เหล่านี้ได้ จนเห็นได้ว่า สารที่ได้รับจากสื่อสารในอินเตอร์เน็ต มีความครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งกว่าสื่อพื้นฐานเสียอีก และสามารถเลือกรับชมได้หลายทาง หลายรูปแบบ ตามความต้องการของผู้รับสาร
        อีกอย่างที่น่าสนใจ ก็คือ นักข่าวพลเมืองนี้ ไม่จำเป็นจะต้องเรียนหรือศึกษาทางนิเทศศาสตร์หรือวารสารศาสตร์โดยเฉพาะเลย จะเรียนอะไร จะประกอบอาชีพอะไร ถ้าคอมพิวเตอร์หรือกดมือถือเป็นหน่อยก็สามารถทำหน้าที่นี้ได้อย่างดีครับ

        ความจริงที่ได้ปรากฏอยู่ในสื่อสารขนานใหม่ ทำให้ประชาชนได้รับรู้ความจริงซึ่งหาไม่ได้ในสื่อสารกระแสหลัก ทำให้พวกเขาตาสว่างขึ้น และในขณะเดียวกัน ก็เป็นปัญหาโลกแตกของผู้ที่มีความคิดเชิงเผด็จการที่บังเอิญไปทำอะไรไม่ดี ไม่งามให้สังคมเข้า จ้างสื่อสารมวลชนกระแสหลักปิดปากไม่ให้ทำข่าว ไม่ให้ชี้ว่าตัวเองผิด แต่ก็ปรากฏว่าคนกลับเข้าใจตรงข้ามกับตัวเองเต็มเมือง เพราะใคร...?
        นักข่าวพลเมือง
        ยกตัวอย่างการยิงกระสุนปืนใส่ประชาชนในเขตอภัยทาน หรือประชาชนที่ไม่ได้เกี่ยวกับการชุมนุมอะไรเลย ไม่ว่าฝ่ายที่กุมอำนาจรัฐ หรือสื่อสารมวลชนจะออกมาชี้นำ ชักนำกันอย่างไร ก็จะพบว่าในสื่อสารออนไลน์นี่แหละ จะพบกับความจริงที่บิดเบือนไม่ได้ มีภาพ มีคลิปประกอบการนำเสนอข้อมูลตัวอักษร ข้อมูลตรงนี้แหละที่จะนำมาหักล้างผู้ที่กำลังจะแหกตาบิดเบือนความจริงได้
        เมื่อปลายปีที่ผ่านมา จึงพบว่ามีผู้หญิงบางคนซึ่งออกจะพิลึกพิลั่นไปหน่อย เลย “โชว์ห้าว” สั่งให้บล็อกเว็บไซต์เฟซบุ๊คกับยูทูป เพราะระแวงว่าจะมีใครคนใดจะเขียนหรือพูดในลักษณะ “ตอมมาตรา 112”
        คือ วนไป วนมา
        ต้องเข้าใจว่า แมลงพวกนี้ มันไม่ได้อยากจะติดกับดักมาตรานี้หรอกครับ เพียงแค่ตอมดูว่ามันคืออะไรแค่นั้น ก็เหมือนกับอาจารย์หรือบุคคลหลายคนที่ออกมาพูดถึงสถาบันต่าง ๆ ของประเทศ ไม่ได้มีความเกลียดชังหรือแสดงความหยาบคายอะไรเลย เพียงแค่หวังดีต้องการให้สถาบันมีความยั่งยืนมากขึ้น ก็กลายเป็นว่า
        “ทำผิด” ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
        เรื่องนี้จึงเป็นที่กังขาของสังคมว่ามาตรานี้มาตราเดียวมันทำให้สังคมมีความ แตกแยก และแถมบางคนก็ยิ่งทำตัววุ่นวายไปใหญ่ บังเอิญว่ากระแสแก้ไขมาตรา 112 ของคณะนิติราษฎร์ ไปคาบเกี่ยวกับเวลาของกระแสการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 พอดี ด้วยความเกลียดชังคนบางคน พรรคบางพรรค เลยไม่คิดไตร่ตรองอะไร ติดกับดัก “ความโง่” เข้า เลยเข้าใจว่า
        จะแก้ไข “รัฐธรรมนูญ มาตรา 112”
        ปล่อย “ไอ้โต้ง” ไปแล้วหลายตัว
        การบังคับใช้กฎหมายมาตรานี้ที่ผ่านมา เป็นปัญหาอย่างมากถึงความไม่เป็นธรรม เอาแค่กรณีของตัวการและตัวทำซ้ำเพียงกรณีเดียว (ไม่บังอาจบอกว่าใครกับใคร) ที่ได้การปฏิบัติและโทษไม่เท่าเทียมกัน ก็รู้แล้วว่าสังคมนี้มันเอียงกะเท่เร่ขนาดไหน ซึ่งเราไม่สามารถปฏิเสธได้เลยถึงสิ่งเหล่านี้
        มันจึงสมควรที่คณะนิติราษฎร์จะ “ลุยขวากหนาม” รณรงค์ให้มีการล่ารายชื่อเพื่อแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพื่อให้มีการบังคับใช้อย่างเป็นธรรม ผู้ที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันอย่างบริสุทธิ์ใจจะได้รับความคุ้มครอง ไม่ใช่เห็นเป็นฝ่ายตรงข้ามหน่อยก็ยัดเข้าคลองเปรมลูกเดียว

        กลับมาที่เรื่องนักข่าวพลเมือง นอกจากนักข่าวพลเมืองซึ่งเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการนำเสนอข่าวหรือ เหตุการณ์แล้ว ยังมีคอลัมนิสต์หน้าใหม่แจ้งเกิดใน Social Network อีกมากมาย ซึ่งความคิดความอ่านของบุคคลเหล่านี้น่าสนใจและเป็นประโยชน์กับสังคมเป็น อย่างมาก บางคนเติบโตจากที่นี่จนได้เป็นคอลัมนิสต์กระแสหลักก็มี
        ผมเป็นคอลัมนิสต์ตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว หรือในขณะที่ผมเรียนอยู่ชั้น ม.4 ผมได้โอกาสจากหนังสือพิมพ์เฉพาะกลุ่มฉบับหนึ่งซึ่งมีอดีตสมาชิกในฝ่าย นิติบัญญัติเป็นเจ้าของบริหาร ผมทำงานได้เพียงครึ่งปีก็ต้องเลิก เนื่องจากแท่นพิมพ์ที่พิมพ์หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ถูกยึดเพราะถูกกล่าวหาว่ามี บุคคลบางคนในหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวอาจจะกระทำผิดมาตรา 112 (อีกแล้ว)
        นับแต่นั้นมาผมก็เริ่มเขียนบทความเป็นคอลัมนิสต์อิสระ ลงเฟซบุ๊คอยู่เรื่อย ๆ ในนามของ “ก้อนอิฐ” และได้ค้นพบการทำสื่อออนไลน์ในรูปแบบของ PDF ร่วมกับเพื่อนพี่น้องหลายคน จนได้ออกหนังสือออนไลน์ “พลังใหม่” ขึ้นมา ซึ่งได้ทำบทวิจารณ์เกี่ยวกับการศึกษา สังคม และการเมือง ก็ทำได้ประมาณครึ่งปีเหมือนกัน ก็ต้องเลิก เพราะความไม่สะดวกบางประการของเฟซบุ๊ค
        ผมทำบทความมาก็ได้การตอบรับที่หลากหลายมาก ทั้ง “ดอกไม้” และ “ก้อนอิฐ” สมกับชื่อผมจริง ๆ ยอมรับว่ามีด่า ทะเลาะ จะกระทืบอีกต่างหาก แต่มันก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ผมปรับปรุงบทความต่าง ๆ ให้มีความสมบูรณ์และถูกต้องมากขึ้น
        ทุกวันนี้ผมเขียนบทความเกี่ยวกับการเมือง สังคม และการศึกษา และหวังว่าจะมีใครสักคนหนึ่งนำผมเข้าไปร่วมในสื่อสารมวลชนต่าง ๆ เพื่อนำความคิดเห็นที่อาจจะมีประโยชน์ออกสู่สังคมและเพื่อที่จะได้แลก เปลี่ยนความคิดเห็นกันครับ
        ผมเชื่อว่าในอนาคตจะมีนักข่าวพลเมืองและคอลัมนิสต์มวลชนแบบผมและเพื่อน ๆ อีกจำนวนเยอะแยะที่สามารถนำเสนอข่าว เหตุการณ์ ได้อย่างรวดเร็วฉับไวและถูกต้องแม่นยำโดยไม่ต้องพึ่งพาหรืออดทนกับการบิด เบือนของสื่อกระแสหลัก โดยเฉพาะการนำเสนอผ่านหน้าเว็บต่าง ๆ ซึ่งทำให้เราประหยัดค่าใช้จ่ายในการนำเสนอได้ดีและมีผลตอบรับค่อนข้างสูง อีกทั้งสื่อสารมวลชนประเภทนี้จะมีบทบาทสูงในสังคมจนสื่อกระแสหลักต้อง พิจารณาตัวเองใหม่ครับ
        นี่คือ “ความเปลี่ยนแปลง” หนึ่ง ในสังคมยุคดิจิตอล ซึ่งเรา ๆ ควรสังเกตและตามมันให้ทันครับ
        แต่สุดท้ายนี้ อยากจะตั้งคำถามเพื่อเป็นการทิ้งท้ายสักข้อว่า...
        กรณีที่มีผู้ (มือดี) นำคลิปที่แอบถ่ายมาเผยแพร่ โดยในคลิปนั้น เป็นเหตุการณ์ นร.หญิงตบกันเพื่อแย่งผัว หรือ นร.ชายตีกันหน้าสถาบันหรือบนรถเมล์ หรือบรรดา “สื่อประกอบการช่วยตัวเองทั้งหลาย” ที่มันกำลังเกลื่อนกลาดอยู่ในสังคมขณะนี้ เราจะนับว่าบุคคลเหล่านี้ จะเป็น “นักข่าวพลเมือง” ซึ่งมีหน้าที่นำเสนอความจริงอย่างรวดเร็ว ฉับไว ตามนิยามที่เราเข้าใจกัน
        ได้ หรือ ไม่ ?!

22 มกราคม 2554

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น