วันอังคารที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

เมื่อ “ก้อนอิฐ” กับ “คำ ผกา” โคจรมาเจอกัน !! และหนังสือ “เปิด เปลื้อง เปลือย คำ ผกา” โดย ก้อนอิฐ

** บทความย้อนหลังเพื่อทดลองระบบ ที่มา facebook ครับ ** 



        ผู้หญิงที่นั่งอยู่ข้าง ๆ ผม “เป็นใครกัน ?!”
        ใคร ๆ ที่ไม่คิดจะสนใจสังคมและบ้านเมือง คงตอบไม่ได้เป็นแน่
        เพราะคน ๆ นี้ “ดัง” จะตาย !!

        ไม่มีผู้หญิงคนไหนที่จะดังระเบิดระเบ้อ ดังระเบิดเถิดเทิง ลั่นคับฟ้า ในเรื่องของความ “แรง” ได้มากกว่าผู้หญิงที่ชื่อ “คำ ผกา” อีกแล้ว !!
        “คำ ผกา” คือนามปากกาของผู้หญิงที่ชื่อ “ลักขณา ปันวิชัย” หรือที่เรียกกันแบบส่วนตัวว่า “คุณแขก” หญิงชนบทจากสันคะยอม อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ผู้ที่สั่งสมประสบการณ์ด้านการเขียนในรูปแบบต่าง ๆ มามากมาย ทั้งในด้านการเขียนหนังสือแบบสนุก ๆ ชิว ๆ อย่างการทำอาหารซึ่งเป็นกิจกรรมโปรดของคุณแขก หรือมิฉะนั้นก็จะออกไปทาง “ปาก (กา) กัด ตีนถีบ” โดยเฉพาะการเมือง สังคม และเรื่องเพศ ซึ่งคุณแขกพูดแบบเปิดเผย ไม่อ้อมค้อม ตรงไปตรงมา มีทั้งคนชมและด่าไปพร้อม ๆ กัน
        คุณแขกได้สั่งสมประสบการณ์ด้านการเขียนตั้งแต่เรียนชั้นปริญญาตรี ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และต่อมาได้ไปศึกษาต่อที่ประเทศญี่ปุ่น ก่อนที่จะกลับมาเป็นนักเขียนในนิตยสารต่าง ๆ ซึ่งรสชาติในแต่ละคอลัมน์ถือว่าแตกต่างกัน
        คุณแขกได้เขียนหนังสือในนามปากกา “คำ ผกา” และนามปากกาอื่น ๆ เช่น “ฮิมิโตะ ณ เกียวโต” ซึ่งจะเกี่ยวกับหนังสือเกี่ยวกับญี่ปุ่นในด้านการทำอาหาร จะว่าเป็นชีวิตจริงของคุณแขกที่ไปอยู่ในญี่ปุ่นก็ได้ หรือจะว่าเป็นนิยายก็ได้ กึ่ง ๆ กัน รวมกันหลายเล่มจนถึงปัจจุบัน
        คุณแขก แรก ๆ ก็เป็นนักเขียนธรรมดา ๆ ที่โด่งดังมากจนถือว่า “แจ้งเกิด” ก็คือคอลัมน์ “กระทู้ดอกทอง” ในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ จนทำให้เกิดฉายา “คำ ผกา” ขึ้นมา โดยหลบลี้ทางด้านภาษาของคำว่า “ดอกทอง” นั่นเอง
        คอลัมน์นี้ถือว่าโดน “จัดเต็ม” จากบรรดาคนที่ไม่เห็นด้วยกับข้อเขียนอย่างมาก แต่ก็ไม่ได้ท้อใจ เขียนต่อไป จน “แจ้งเกิด”
        ในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ คุณแขกได้เขียนสองคอลัมน์ โดยใช้สองนามปากกา และไม่มีใครระแคะระคายเลยว่าเป็นคนเดียวกัน 
        ปัจจุบัน “คำ ผกา” ได้เป็นคอลัมนิสต์ประจำของ “มติชนสุดสัปดาห์” ในคอลัมน์ที่เป็นชื่อของคุณแขกเอง เราจะพบในหน้าปลาย ๆ ของเล่ม ซึ่งกินเนื้อที่ไปประมาณ 2 หน้า สาระส่วนใหญ่อิงการเมืองและวัฒนธรรม โดยเขียนบวกกับวิจารณ์ได้แซ่บสะเดิดเหลือหลาย กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันกว้างขวาง และก็โดน “ใส่” จากบรรดาฝ่ายตรงข้ามจาก “จุดยืน” ของคุณแขก ซึ่งคุณแขกประกาศชัดว่ามีตัวตนอย่างไร เลือกที่จะอยู่ข้างไหน
        นอกจากนี้ ยังได้จัดรายการ “คิดเล่นเห็นต่างกับคำ ผกา” ใน Voice TV ร่วมกับ “อรรถ บุนนาค” ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 21.30-22.00 น. โดยมีประเด็นพูดรอบด้าน พร้อมทั้งไม่มีออมปากออมมือ “จัดหนัก” ไม่ยั้ง จนบรรดาฝ่ายตรงข้าม “ตาลุกเป็นไฟ” ไปในพริบตา
        คำพูดของคุณแขกนั้นถือว่าแรงเกินจะยั้งใจให้หยุดติดตามและค้นหาความจริง จนบางครั้งทีมงานต้องเซ็นเซอร์คำที่พูด เรียกว่าแทบไม่ทันกินกันเลยทีเดียว เช่น วันที่พูดถึงเพลงคันหู ก็ได้ยกเพลงของพุ่มพวงเพื่อเปรียบเทียบให้เห็นถึงลักษณะทางเพศที่ถูกขัดเกลา ไม่ให้มีความหยาบคายตรงไปตรงมา เช่น ถอยห่าง อีกนิด ๆ ถ่างหอย... เป็นต้น
        อีกวันหนึ่ง เป็นการพูดถึงประเด็น slut walk ซึ่งเป็นการที่ผู้หญิงเดินขบวนในลักษณะโป๊ คุณแขกก็พูดว่า เมืองไทยยังมีธรรมยาตราเลย ที่โน่นก็น่าจะเป็น “กะหรี่ยาตรา”
        แรก ๆ ผมไม่รู้หรอกครับว่าไอ้คำที่เว้นไปนั่นมันคำว่าอะไร สงสัยมานานแล้ว แต่เมื่อผมได้พบกับ “คำ ผกา” ตัวจริง ก็แฉซะหมดเปลือก

        ล่าสุด คุณแขกได้ออกหนังสือปกสีลิ้นจี่ จะว่าสีแดงก็ไม่เต็มกลืนเพราะว่าองค์ประกอบสีมันเปลี่ยนจากแดง จะว่าชมพูก็ไม่ถึงขั้น ครั้นจะบอกว่าเป็นสีบานเย็นยิ่งแล้วใหญ่ จึงอนุมานได้ว่าสีมันจะคล้าย ๆ เปลือกลิ้นจี่ ก็เอาเป็นว่า สีเปลือกลิ้นจี่เป็นยังไง สีปกของหนังสือเล่มนี้ ก็เช่นนั้นแล

        หนังสือเล่มล่าสุด มีชื่อว่า “เปิด เปลื้อง เปลือย คำ ผกา” แล้วหน้าปกก็มีภาพของคุณแขกเปลือย แต่ประดับประดาด้วยสีสันจากการเมืองและสังคมเต็มที่ มีช้าง มีหมีแพนด้า มีอะไรต่อมิอะไรหลายอย่าง
        ผมเจอ “คำ ผกา” ตัวจริงโดยบังเอิญในวันที่ 9 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยได้ไปที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 16 ผมมีธงว่าจะซื้อหนังสือเล่มนี้อยู่แล้วครับ ก็เลยซื้อ แล้วก็หันไปเจอเข้าพอดี จึงขอลายเซ็น แล้วก็คุยกันสนุกสนาน ในระหว่างที่คุณแขกก็เซ็นลายเซ็นให้กับคนอื่นไปเรื่อย ๆ 1 ชั่วโมงเต็ม ๆ ก่อนที่ “ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ” ผู้เขียนหนังสือ “สุภาพบุรุษไพร่” จะเข้ามานั่งบ้าง ท่ามกลางคนเสื้อแดงที่ล้นหลาม ทั้งสองคนก็คุยกันแหย่กันตามประสา “คนเสื้อแดง” ด้วยกัน ด้วยเวลาพอสมควร

        เนื้อหาสาระของหนังสือเล่มนี้ก็คือการรวมบทสัมภาษณ์ของ คำ ผกา ไว้ด้วยกันหลาย ๆ ตอน ซึ่งประเด็นไม่มีตายตัว ถามไปเรื่อย ๆ ก็ออกทะเลไปเรื่อย ๆ เน้นความเป็นกันเอง แต่แทรกซึมความเด็ดขาด และไม่พ้นที่จะ “แสบสันต์” ตามขุมถนัดของคุณแขกครับ

        ขอยกบางข้อความมาเป็นน้ำย่อยครับ 
        “...เราต้องยอมรับว่าท่านพุทธทาสเป็นนักคิดที่มีอิทธิพลความคิดต่อปัญญาชนไทยมากที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย นักคิดที่มีอิทธิพลมากขนาดนี้จำ เป็นอย่างยิ่งที่ผลงานของเขาต้องได้รับการศึกษา ตีความ วิเคราะห์ วิจารณ์ ในหลายแง่มุม แต่ปรากฏว่าท่านพุทธทาสกลับถูกใช้ในทางการเมืองอีกแบบหนึ่ง ถูกทำให้เป็นสถาบันที่ละเมิดไม่ได้ กลายเป็นรูปเคารพ กลายเป็นเทพ หมดความเป็นมนุษย์ไปเลย...”
        “...ก็แค่อยากจะบอกว่า ถ้า ผู้หญิงแก้ผ้ามันไม่จำเป็นต้องบอกว่า แก้ผ้าหาเงิน แก้ผ้าใช้หนี้ให้แม่ แก้ผ้าเพราะว่าเป็นงานศิลปะ แก้ผ้าเพราะว่าอยากต่อสู้ให้พีต้า เพื่อสิทธิสัตว์...การแก้ผ้าของผู้หญิงเป็นเรื่องที่ทำได้โดยไม่ต้องมี เหตุผลใด ๆ รองรับเลยก็ได้...ก็แค่นั้น”
        “ฉันว่าสังคมไทยมันลักลั่นกันอยู่ ระหว่างการก้าวไปอยู่กับสิ่งที่เรียกว่า “สมัยใหม่” กับการโหยหาสังคม “ก่อนสมัยใหม่” เรากลัวทุนนิยม กลัวโลกาภิวัตน์ เราโหยหาชุมชนนิยม เราเกลียดบริโภคนิยม เกลียดวัตถุนิยม แต่เราก็ชอบเหตุผลนิยม เกลียดไสยศาสตร์อยากได้ประชาธิปไตย แต่ก็อยากอยู่แบบเอื้อเฟื้ออาทร แบ่งปันฉันเธอ อยากค้าขาย แต่ก็อยากพอเพียง คือตกลงจะเอาอะไรกันแน่วะ ต่อต้านโลกาภิวัตน์ แต่อยากส่งน้ำพริกเผาขายทั่วโลก--ฉันก็งงจริง ๆ
        คนเรามันต้องเลือกเอาอะไรสักอย่าง มันเอาหมดทั้งสองอย่างไม่ได้ จะเอาทั้งปัจเจกทั้งชุมชน มันโลภจริง ๆ คนสมัยนี้ถึงทำงานจันทร์ถึงศุกร์ กินเต็มที่ หาเงินเต็มที่ เสาร์-อาทิตย์ไปนั่งสมาธิ ชาร์ตแบตเตอรี่ จะเอาทั้งเงิน จะเอาทั้งจิตวิญญาณ เอาแม่-งทุกอย่าง...”
        “...เมื่อก่อนดิฉันอยู่ที่ญี่ปุ่น คนใส่มาสก์เวลาเป็นหวัดเป็นเรื่องปกติมาก เราเป็นหวัด เราต้องปิดปาก--ในแง่ของภาษาที่สื่อออกไปคือคุณกำลังบอกกับสังคมว่า “ฉันมีความรับผิดชอบต่อสังคมนะ ฉันป่วยและฉันระวังไม่เอาเชื้อโรคไปติดใคร” แต่การใส่มาสก์ในเมืองไทยที่รณรงค์กันอยู่คือ คนไม่ป่วยใส่ เพื่อป้องกันตัวเองไม่ให้ติด มันกลับกัน ซึ่งก็สะท้อนให้เห็นสองอย่าง
        อย่างแรกคือ คนไทยรู้ว่าพึ่งรัฐไม่ได้ ก็พึ่งตนเอง ป้องกันตนเอง อย่างที่สอง เราไม่ได้ใส่มาสก์เพราะคิดถึงคนอื่นหรือเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อคนอื่นที่ อยู่ร่วมกับเรา แต่เราใส่มาสก์เพื่อป้องกันตัวเราเอง เป็นการเอาตัวรอดแบบ...ดิฉันไม่อยากพูดว่า “แบบคนไทย” --คือมันเป็น mentality เป็นสำนึกที่อยู่กับสังคมไทยที่เราคุ้นเคย คนอื่นเป็นไงก็ช่าง สังคมเป็นไงก็ช่าง ตัวกู ลูกกู ครอบครัวกูรอดก็แล้วกัน...”
        “อยากพูดว่า ตอนนี้ดิฉันรังเกียจพรรคประชาธิปัตย์อย่างบอกไม่ถูก--perspnal เป็นส่วนตัวมากนะคะ เป็นความคิดเห็นส่วนตัว และอยากถามรัฐบาลชุดนี้ว่า ไม่อายน้ำหน้าตัวเองบ้างเลยหรือกับการขึ้นมาเป็นรัฐบาล แต่ละคนก็มีการศึกษาดี ๆ มาจากครอบครัวดี ๆ มีกินมีใช้ ไม่ได้ลำบากยากจนอะไรนักหนา ไม่ได้เป็นรัฐบาล เมียก็เดินซื้อเพชรได้ทุกวันอยู่แล้ว--ทำมั้ย...ทำไมหน้าด้านกันนัก”
        “...สมมุติว่าเราเขียนงานออกไป เราเขียนในที่แจ้ง งานชิ้นนั้นมันจะถูกเขียนและถูกอ่านโดยคนอ่านแล้ว...มันจะไม่ใช่อำนาจของแขก เพราะฉะนั้นคุณอ่านให้แรงก็เป็นเรื่องของคุณ คุณอ่านให้เข้าใจสิ่งที่มันหลุดจากความรุนแรงทางภาษาก็เป็นเรื่องของคุณ ถ้าคุณอ่านแล้วได้แต่ความหยาบคาย อันนั้นเป็นปัญหาของคุณ ไม่ใช่เป็นเรื่องของแขก แต่แขกอยากพูดให้ตรงที่สุด ตรงตามที่แขกคิดมากที่สุด จะวิจารณ์ใคร แขกก็อยากให้เค้ารู้ว่าแขกวิจารณ์เค้า เอาให้ชัด ๆ ไม่ต้องอ้อมว่า นาย ก. นาย ข. อะไรงี้...”
        “...เหมือนเราเห็นกรรมกรเป็นฆาตกรข่มขืนน่ะ เพราะว่าเค้าเป็นกรรมกรก็จะถูกอธิบายแบบนึง แต่ถ้าเป็นหมอ มันก็จะถูกอธิบายอีกแบบนึง ถ้าคนที่ข่มขืนคนนั้นเป็นหมอก็จะถูกอธิบายแบบจิตวิทยาอะไรไป แต่พอเป็นกรรมกรปุ๊บ ก็ตบหัวเข่าฉาด ใช่เลย กูว่าแล้ว
        “...คนไทยจะเป็นคนที่ว่านอนสอนง่าย ไม่กินเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดูหนังโป๊ ไม่หนูหนังที่มีเลิฟซีน ไม่ดูหนังกะเทย ใครอยากเป็นกะเทยก็ต้องเป็นกะเทยไทยที่ดี คือกตัญญูเป็น “กุลกะเทย” รักษาพรหมจรรย์ ไม่แรด ไม่ร่าน รู้จักหมอบคลาน รำไทย เป็นกะเทยแบบนี้จะได้รับอนุญาตให้มีชีวิตอยู่ได้ดีตามสมควร แต่ถ้าคุณเป็นกะเทยที่ทำหนังให้เห็นกะเทยเอาผู้ชาย หนังคุณจะถูกแบน...” 
        “...แขกคิดว่าที่น่ากลัวกว่าแม่ชีก็คือพระแอ๊บเนียนทั้งหลาย ที่พูดอะไรก็ดีไปหมด ถูกไปหมด จะน่ากลัวกว่าพระที่บอกว่าไม่เลือกอะไรเลย สังคมมันซับซ้อน เราต้องเป็นกลาง นี่เป็นศัตรูที่น่ากลัวกว่า และสู้ด้วยยากจังเลย เพราะเขาพูดแต่เรื่องดี ๆ แต่เอาเข้าจริง ๆ แล้วเขาเห็นแก่ตัวไงคะ เขาไม่ยืนอยู่ข้างที่เสียเปรียบ ไม่ยืนอยู่ข้างที่ถูกต้อง แต่เขาเลือกที่จะลอยตัวอยู่เหนือความขัดแย้งทั้งหมด และรักษาตัวเองไม่ให้เจ็บตัว ทำนองนี้น่ากลัวกว่า คือไม่ขวา ไม่ซ้าย ไม่ขาว ไม่ดำ ขอพื้นที่เทา ๆ ได้ไหม พื้นที่เทา ๆ ก็คือคุณกำลังทำตัวเป็นพระเจ้าอยู่เหนือมนุษย์ธรรมดา แล้วคุณจะไม่อยู่ข้างใดทั้งนั้น คุณก็รอว่าฝ่ายไหนชนะ แล้วก็บอกว่านี่ไง ฉันไม่เปลืองตัวเลย ฉันก็บอกว่าความขัดแย้งมันซับซ้อน จะลงไปเจ็บเนื้อเจ็บตัวกันทำไม...”
        “...ในขณะที่ชนชั้นกลางพร่ำพูดเรื่องความถูกต้อง ๆๆๆๆ สงบ ๆๆ แปลว่าอะไรก็ไม่รู้ แล้วความถูกต้องคืออะไรก็อธิบายไม่ได้ แล้วพอให้เล่าลงไปในรายละเอียดก็พูดไม่ได้ รู้แต่ว่าขอความถูกต้อง ขอพื้นที่กรุงเทพฯ คืนให้กับคนกรุงเทพฯ ขอความสงบ ขอความเมตตา ขอความรัก กลับมารักกันได้ไหม--อีหอยหลอด กูจะรักมึงได้ยังไง ในเมื่อผลประโยชน์ของกูกับมึงไม่ตรงกัน
        “...การที่เราเลือกที่จะอยู่กับใครสักคนหนึ่งเป็นระยะเวลายาว ๆ นี่ บางทีมันไม่ใช่ความรักล้วน ๆ นะคะ มันเป็นความลงตัวในชีวิต ว่าชีวิตเรากับเขาเข้ากัน เช่น การเงินลงตัวไหม ญาติพี่น้องลงตัวไหม เรื่องหน้าที่การงานลงตัวไหม แขกหมายถึงปัจจัยภายนอกเมื่อมาอยู่ด้วยกันแล้วมันพอดีกัน เช่น ถ้าสมมุติว่าแขกมีแฟนอยู่คนละประเทศ แล้วไม่มีทางย้ายประเทศไปอยู่ด้วยกันได้เลยในระยะเวลาอันสั้น ต่อให้รักแค่ไหนก็คงเลิก เพราะปัจจัยภายนอกมันไม่เอื้อ มันไม่ใช่เรื่องความรักที่อยู่ข้างในอย่างเดียว”
        “...ยกตัวอย่างง่าย ๆ คำถามง่าย ๆ ที่ทุกคนต้องเจอว่า ทำไมไม่แต่งงาน นี่ก็เป็นการต่อสู้อย่างหนึ่งนะ แขกเองก็ต้องคอยตอบคำถามเหมือนกันว่า ทำไมไม่อยากมีลูก เป็นผู้หญิง ทำไมไม่มีสัญชาตญาณความเป็นแม่ ทำไมถึงไม่อยากมีหมา พร้อมผู้ชายสัก 1 คน

        อั๊ยย่ะ !!
        “จัด” เต็มดอก “ตอก” เต็มกบาล
        ความจริงก็อยากจะเถียงคุณแขกในหลายเรื่อง ๆ นะครับ เพราะผมเห็นว่าหลายสิ่งหลายอย่างที่คุณแขกพูด แปร่ง ๆ
        ไว้ข้อมูลแน่น ๆ หน่อยนะ เดี๋ยวเราสองคนมา “ฉะ” กัน
        “แรงมา” ก็ “แรงไป”
        ระหว่าง “ศิษย์” ที่ชื่อ “ก้อนอิฐ” กับ “อาจารย์” ที่ชื่อ “คำ ผกา”
        เราชอบอะไร “แรง ๆ” อยู่แล้ว !!

        นี่ก็คือบางส่วนที่ตัดตอนมาจากหนังสือ “เปิด เปลื้อง เปลือย คำ ผกา” ที่ผมมีโอกาสพบเจอตัวจริงของคนเขียน และได้รับลายเซ็นเป็นที่ระลึก ความจริงยังมีแรง ๆ มากกว่านี้อีกครับ ต้องหาอ่าน
        สำหรับคนอ่านหนังสือเล่มนี้ ผมบอกไว้ก่อนนะครับว่า ทุกสิ่งที่เป็นคำพูดจากการสัมภาษณ์ของคุณแขก อ่านแล้วไม่จำเป็นต้องเชื่อไปหมดก็ได้ เพียงแต่เราต้องรู้จักเถียง รู้จักทำความเข้าใจ อย่างที่คุณแขกบอกว่า อย่าเชื่อไปเลยเพราะว่าคนพูดดี เพราะว่าสถานะของบุคคลนั้น แต่ควรที่จะวิจารณ์ แม้ว่าจะเป็นพระ เป็นคนสูง อย่างท่านพุทธทาส เป็นต้น ก็ไม่ควรมองในแง่ศีลธรรมเพียงอย่างเดียว แต่ควรจะมองในมิติอื่นด้วย
        ที่สำคัญที่คุณแขกย้ำเองในหนังสือ ก็คือ อ่านให้อย่าเป็นอ่าน แต่ควรอ่านแบบ “ฟัง” คือ ตัวเขียนที่ปรากฏมันไม่ใช่เกิดจากสำนวนการเขียน แต่เป็นการถอดเอาบทพูดจากการรับสัมภาษณ์ เพราะฉะนั้นจึงควรที่จะอ่านไป เถียงไป เพื่อเพิ่มพูนจิตวิเคราะห์ การคิด ไม่เชื่ออะไรที่เป็นข้อสรุป ที่เป็นสำเร็จรูป เพราะจะเป็นการปิดกั้นสมองตัวเราเอง
        ไม่ว่าจะเป็นชื่อชั้นหนังสือ ไม่ว่าจะเป็นชื่อชั้นคนเขียน ไม่ว่าจะเป็นการประชาสัมพันธ์ที่ดี จึงทำให้มีคนรอพบคุณแขกในวันดังกล่าวเป็นจำนวนมากครับ เรียกว่าคุณแขกแทบไม่ว่างมือเลย จนเมื่อถึงรายของผม ปากกาเจ้ากรรมของคุณแขกก็มาหมดเอาพอดี เลยต้องยืมทีมงาน เลยได้อยู่กันนาน

        วามสำคัญหรือจุดประสงค์ที่หาได้จากหนังสือเล่มนี้ คือ การที่เราจะมีความคิดเห็นอย่างไรหรือเราจะเชื่ออะไร ก็ควรที่จะมีความเข้าใจในเรื่องนั้น ๆ อย่างชัดเจน ซึ่งควรชั่งน้ำหนักกัน ก่อนที่จะเชื่อ เพื่อเพิ่มพูนสติปัญญา อย่าไปเชื่อเพราะบุคคลนั้นดี สูง เป็นพระ หรือไปเชื่อเพราะว่าสิ่งนั้นดี งาม จนไม่กล้าตั้งคำถาม ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นนั่นก็คือเราได้รับชุดความเชื่อแบบสำเร็จรูปไป และเราก็จะปักใจเช่นนั้น บางครั้งบางทีตำราต่าง ๆ ซึ่งเป็นหลัก อย่างที่สอนเราในชั้นมัธยมก็ดี ประถมก็ดี จะมีพื้นฐานแห่งความเป็นรัฐอยู่ โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ อย่างที่บอกกันว่า “ผู้ชนะเขียนประวัติศาสตร์”
        เราจะเห็นได้ตลอดว่า ข้อมูลด้านประวัติศาสตร์ มีความครึ่ง ๆ กลาง ๆ ทางด้านเนื้อหา และชัดเจนในจุดประสงค์ว่า การดำรงความเป็นชาติ มีความสำคัญ การรักษาชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มีความสำคัญ เป็นสิ่งที่เราต้องทำมากกว่าสิ่งอื่น และการบันทึกประวัติศาสตร์ลงในสมุดหนังสือตำราทั้งหลาย เราจะเห็นได้ว่า จะเน้นวีรกรรมของบรรดาพระมหากษัตริย์กันเสียส่วนใหญ่ ว่าไปทำอะไรเพื่อบ้านเมืองบ้าง และออกแนวชื่นชม แต่ละเลยที่จะพูดถึงรวมไปถึงยกย่องชาวบ้านธรรมดาที่ก็ร่วมรบเคียงบ่าเคียง ไหล่กันมา (จะมีบ้างก็อย่างชาวบ้านบางระจัน แค่นั้น) จนทำให้คนที่ได้เรียนกันมีความรู้สึกและเชื่อตามอุดมการณ์ของรัฐที่จัดวาง ให้
        หรือแม้แต่ทางพระพุทธศาสนา ก็มีข้อมูลสำเร็จรูปออกมาสอนเด็กให้เชื่อให้รู้กันอย่างนี้ พระพุทธเจ้าทรงเป็นพวกอารยันผิวขาว เป็นเผ่าศากยะ ออกบวชเพื่อแสวงหาความหลุดพ้น แต่ปัจจุบันก็มีนักวิชาการด้านพระพุทธศาสนาหลายคน ออกจะคิดเล่นเห็นต่าง ก็คือ อ.เสถียรพงศ์ วรรณปก ท่านมองต่าง โดยอ้างอิงพระไตรปิฎกหลายเล่ม บอกว่า ที่พระพุทธเจ้าต้องออกบวช ก็เพราะปัญหาการแย่งน้ำของพระประยูรญาติทั้งสองฝ่าย
        แล้วนั่นก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิด “พระพุทธรูปปางห้ามญาติ” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปของคนที่เกิดวันจันทร์
        เพราะฉะนั้น ข้อมูลสำเร็จรูปจะยกแต่ข้อดี ๆๆๆๆ มาเพื่อให้คนเชื่อ และข้อดีทั้งในด้านสถานะและการกระทำนั้น มันเป็นการ “ปิดปาก” ของคน ไม่ให้ตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องที่หลายคนคิดว่าศักดิ์สิทธิ์ พูดไม่ได้ เถียงไม่ได้ เช่น อาจจะมีคนสงสัยว่า เมื่อพระพุทธเจ้าประสูติ ก็ยืนเดินได้เลยหรือ หรือที่มีดอกบัวมารับ 7 ดอกอะไรนั่นน่ะ จริงหรือ
        ในชุดสำเร็จรูปนั้นเองนอกจากมีการสรุปให้สำเร็จรูป เหมือนกับติวรอบสุดท้ายที่จะมีการสรุปสูตรอะไรต่าง ๆ แล้วให้ไปอ่านไปทำเอา ก็จะพบว่ามีการละเลยอะไรบางอย่าง ที่คนทำมักจะจงใจลืม แต่ก็ทำต่อโดยให้เห็นว่า ดี หรือดีโดยไม่มีที่ติ เช่น การละเลยที่จะพูดถึงพระนางยโสธรา หรือราหุลกุมาร ในช่วงหลังที่พระพุทธเจ้า ออกผนวช ซึ่งต้องค้นหาในหนังสือนอกที่ไม่ใช่ในตำราเรียน หรือบทบาทของพระพุทธเจ้าในทางการเมือง อย่างในเรื่องแย่งน้ำกันนั่นแล ก็ไม่มีการทำให้ชัดเจน
        ดังนี้จึงเป็นกรรมของคนเชื่อ ที่จะต้องมีการแก้ไขความคิดเช่นนี้ ให้มีความรอบด้านมากขึ้น
        ในด้านการเมือง จะเห็นว่าประชาชนเริ่มที่จะมีการเลือกข้างชัดเจน คุณแขกยอมรับเลยว่า ไม่มีวงการไหนหรือแม้คนก็ไม่น่าจะมีความเป็นกลาง เราจะเห็นว่า คนที่ออกมาประกาศตัวว่าเป็นกลาง เช่น ที่ออกมากวาดถนน ล้างเสนียดจัญไรแถว ๆ แยกราชประสงค์ตามการเต้นแร้งเต้นกาของหมอ (ที่ลืมอาชีพตัวเองออกมาทำอาชีพนักการเมือง) บางคน แท้จริงก็ไม่ได้เป็นกลาง อาการไม่เลือกข้างนั้นเป็น “ความเห็นแก่ตัว” เพราะคนพวกนี้เลือกที่จะไม่ทำอะไรเลย เลือกที่จะอยู่เหนือความขัดแย้ง แล้วเมื่อการต่อสู้ของทั้งสองฝ่าย มีวันเลิกรา มีผู้ชนะ คนพวกนี้ก็จะกระโดดเข้าไปอยู่ในฝ่ายผู้ชนะทันที
        มันคือ “การฉวยโอกาส” ที่น่าละอายที่สุด
        เพราะฉะนั้น หนังสือ “เปิด เปลื้อง เปลือย คำ ผกา” จะส่อให้เห็นถึงสันดานแท้ของผู้เขียนที่เมื่อท่านเปิดอ่านแล้ว ก็จะพบความตรงไปตรงมาของถ้อยคำและความคิด ของผู้หญิงที่ชื่อว่า “คำ ผกา”
        แรงแค่ไหน “ลองอ่าน”
        และบางที หนังสือเล่มนี้ก็อาจจะตอกหัวใจท่านด้วย “ความจริง” ที่ทำให้ท่านแอบประท้วง “คำ ผกา” อยู่ในใจ !!

        นี่คือผู้หญิงที่สังคมไม่รู้จัก (ไม่ได้แล้ว) สำหรับ “คำ ผกา” หรือ “ลักขณา ปันวิชัย” และหนังสือ “เปิด เปลื้อง เปลือย คำ ผกา” ซึ่งก็ขอเชิญชวนให้ทุก ๆ ท่านหาซื้อหนังสือปกสีลิ้นจี่เล่มนี้ได้ตามร้านหนังสือทั่วไป ราคาปกติ 165 บาท แต่ถ้ามีสิทธิ์อะไรก็คงจะได้ลดตามเงื่อนไขแต่ละพื้นที่
        อ้าว กะว่าจะไม่โฆษณา แต่ก็เรียบร้อยไปแล้ว เหอะ ๆ
        แล้วนี่ก็คือเหตุผล ที่ทำให้เกิดรูปภาพข้างต้น...
        ระหว่างนักเขียนฝึกหัดรุ่นน้อง กับ นักเขียนฝีปากกล้าระดับประเทศ
         “ก้อนอิฐ” กับ “คำ ผกา”

10 ตุลาคม 2554

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น