วันเสาร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ขอโทษเถอะเพื่อนเอ๋ย... กูรัก “นักการเมือง” ว่ะ !!

        จากสถานการณ์อุทกภัยที่ผ่านมา มันทำให้เราได้รู้ว่า ยิ่งสถานการณ์เพิ่มมากขึ้นหรือยืดยาวไปเท่าใดก็ตาม เราก็จะเห็นสิ่งที่ไม่น่าดูมากขึ้นเท่านั้น แทนที่น้ำท่วมในครั้งนี้จะเป็นการทำให้คนไทยนั้นหันมาจับมือกันเพื่อฟันฝ่า ปัญหานี้ไปด้วยกัน ละวางปัญหาการเมืองที่กินเกาเหลากันมานานกึ่งทศวรรษลงไปบ้าง
        ไม่เลย
        กลับทำให้ปัญหาต่าง ๆ ยิ่งบานปลายมากขึ้น จนได้เห็น “ธาตุแท้” คนเลว ๆ หลายประเภท ที่มักจะมาเลวเอาตอนนี้ ไม่ว่าจะเป็นตัวเล็กตัวน้อย ไล่ไปจนถึงระดับบิ๊ก ๆ ซึ่งบางคนเราก็รู้จักกันทุกวัน
        บางเรื่องที่ไม่เป็นปัญหา ก็ทำให้ “เป็นปัญหา”
        ส่วนเรื่องที่เป็นปัญหา ก็จะทำให้มันเป็นปัญหา “มากขึ้น” จนบานปลาย
        นี่แหละครับ “การเมืองไทย”

        ช่วงหลัง ๆ นี้ผมได้ยินเพื่อนออกมาวิจารณ์สถานการณ์อุทกภัยกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้มีประสบการณ์ตรง แม้ว่านครนายกจะไม่โดนน้ำท่วมก็ตาม แต่ก็เข้าใจได้ว่าได้รับผลกระทบไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เนื่องจากสถานศึกษากวดวิชาทั้งหลายมีปัญหาน้ำท่วมกันถ้วนหน้า หลายคนหนีน้ำกันแทบไม่ทันครับ บางคนที่ไปเรียนไกล ๆ เช่น ร.ร.จุฬาภรณราชวิทยาลัยปทุมธานี ซึ่งเป็นโรงเรียนเข้มวิทยาศาสตร์ ก็จะใส่ชุดกลับมาบ้าน เดินว่อนตัวเมืองกันเป็นแถว แล้วคนพวกนี้ก็จะมีเรื่องเม้าท์มาคุยกันในทำนองว่า ตอนที่กลับบ้านมา น้ำก็ตามหลังมาเรื่อย ๆ
        เกือบเป็นหนังประเภทอภินิหาร พอ ๆ กับกองทัพยิวของโมเสส ที่ข้ามน้ำหนีรอดจากกองทัพอียิปต์ที่ไล่ตามมาได้นั่นแหละ
        แทบจะไม่มีใครจะไม่วิจารณ์เรื่องน้ำท่วมเลยในเวลานี้ครับ
        ผมฟังเพื่อนคุยกันในทำนองที่ว่า น้ำท่วมในครั้งนี้หนักหนาเพราะมีปัญหาด้านการจัดการน้ำ ซึ่งเป็นไปโดยไม่มีประสิทธิภาพ และหลายคนก็ได้พูดถึงนักการเมืองว่าเป็นส่วนหนึ่งของการทำให้ปัญหามันลุกลาม บานปลาย ทั้งในฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน
        แน่นอน ฝ่ายที่ต้องโดนมากกว่าอยู่แล้วนั่นก็คือ “ฝ่ายรัฐบาล” ซึ่งเป็นตรรกะสามัญสำนึกที่แน่นอนอยู่แล้ว ว่าฝ่ายที่ต้องรับผิดชอบนั้นจะต้องโดนว่า โดนด่า ในด้านการบริหารจัดการ ในเฉพาะหน้า ระยะสั้น เป็นแน่นอน
        รัฐมนตรีหลายคนเพิ่งเข้ามารับตำแหน่ง จึงแน่นอนว่ารัฐมนตรีเหล่านี้จึงทำงานไม่ค่อยถึงลูกถึงคนเสียเท่าไรนัก ต้องอาศัยข้าราชการประจำเป็นตัวเสริมตัวช่วยในการเข้าไปทำงานช่วยเหลือ ประชาชน ซึ่งเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ว่ามือใหม่อย่างนี้ต้องบ่มเพาะประสบการณ์กันอีกยาว นาน
        ไม่เหมือน (นักพูด) มืออาชีพ (บางคน) ที่มีพรสวรรค์ติดตัวมาแล้ว จึงทำหน้าที่ได้โดยรวดเร็วปานไฟเลียก้น
        น่าจับคนพวกนี้ไปทำงานกระทรวงแรงงานเสียให้หมด
        เพราะคนพวกนี้ชอบ “หางาน” ทำอยู่เรื่อย

        แต่ที่ผมฟังแล้วแทบจะตกใจในความคิดของเพื่อน นั่นก็คือ การออกมาพูดคุยกันว่ารัฐบาลชุดนี้จะต้องรับผิดชอบที่ทำผิดพลาดไปกับคนไทย ทั้งประเทศ และนายกรัฐมนตรีจะต้องลาออกด้วยเพื่อรับผิดชอบ
        ไม่เท่านั้น ยังมองอีกว่านักการเมืองที่เห็นกันอยู่นั้นเลว สามารถทำได้ทุกอย่างเพื่อตัวเอง แม้เวลาที่ประชาชนจะเดือดร้อนอยู่ก็ตาม
        บอกตรง ๆ นะครับ ผมไม่ค่อยจะถูกกับความคิดของเพื่อน ๆ สักเท่าไหร่นัก เพราะต้องเข้าใจกันดีว่าถิ่นของผม เป็นยังไง หรือไม่ก็อาจจะมีความคิดแบบสลิ่มอยู่ไม่น้อย ซึ่งคนเหล่านี้ก็เชื่อตามผู้ใหญ่ไป
        ผมมีเพื่อนอยู่ไม่กี่คนหรอกครับที่มีลักษณะความคิดเช่นเดียวกัน นอกนั้นก็เป็นสลิ่มแทบทั้งสิ้น แต่ก็แบ่งกันอยู่ว่าเป็นสลิ่มอ่อน ๆ หรือแบบเข้มข้น
        แนวความคิดของคนพวกนี้ ก็เป็นเหมือนสลิ่มทั่ว ๆ ไป คือ เชื่อว่านักการเมืองต้องเป็นคนดี ไม่ทุจริต โกงกิน ต้องทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติ ไม่มีเรื่องราวส่วนตัวเสื่อมเสีย เป็นต้น

        ผมขอบอกเพื่อน ๆ ที่อ่านบทความของผมไว้ ให้รู้จุดยืนด้วยครับ
        คือ ผมไม่บังอาจขัดความคิดเหล่านี้ของเพื่อน ๆ หรอก เพราะมันเป็นคุณสมบัติที่นักการเมืองควรจะมี และเป็นเจตนารมณ์กันอยู่แล้ว เพื่อที่บ้านเมืองจะได้เจริญก้าวหน้า
        แต่ดูจากความคิดของเพื่อน ๆ แล้ว ดูจะขัดกับหลักประชาธิปไตยอยู่พอสมควร ผมพูดแบบไม่เกรงใจเลยนะครับว่า ขัดหลักไปมาก
        คือ การที่จะวิจารณ์ เตือน ด่า ผมเห็นแต่จะด่ารัฐบาลกันเป็นทิวแถว แต่ไม่มีใครที่จะออกมาวิจารณ์การทำงานของฝ่ายค้าน หรือ กทม. เลยครับ
        ผมแปลกใจว่าการวิจารณ์นั้น มันมีมาตรฐานการ “ด่า” ไปในตัว คือ ถ้าไม่ใช่พวกของตัวเอง ก็จะด่าแบบสาดเสียเทเสีย แทบไม่เห็นความดีอยู่ในตัว เป็นคนเหนือก็ผิด พูดอังกฤษไม่ค่อยคล่องก็ผิด เป็นผู้หญิงก็ผิด
        แต่พอเป็นทีพวกตัวเองนั้น ต่อให้เลวกันยังไงก็ “รับได้” เสมอ
        เห็นอย่างนี้น่าแยกประเทศกันอยู่ซะให้รู้แล้วรู้รอด

        คุณอย่ามาเถียงว่าที่จะต้องด่ารัฐบาลกันก็เพราะเป็นฝ่ายที่ต้องรับผิดชอบใน การทำงานแก้ไข ความจริงมันมีทุกฝ่ายที่ทำงานร่วมกัน แต่คุณไม่เคยที่จะวิจารณ์คนพวกนั้นเลย เช่น ทหาร ที่ออกมาเป็นพระเอกในงานนี้ เอาละ ผมเชื่อว่าทหารเขาทำเต็มที่ครับ มาจากใจก็ส่วนหนึ่งที่อยากเห็นประชาชนพ้นทุกข์ แต่อีกส่วนหนึ่งที่ทำแบบนี้ก็คือ “ทำตามหน้าที่” ซึ่งกองทัพทั้งสามก็เป็นหน่วยงานของรัฐบาลอย่างหนึ่ง คือขึ้นกับกระทรวงกลาโหม
        ไม่ได้แยกกันจนกลายเป็นอิสระ
        ถ้าอย่างนั้นก็ให้เป็นสถาบันที่ 4 ไปเลยสิ หมดเรื่อง...
        นี่คือ “หน้าที่” หนึ่งของทหาร ที่จะป้องกันและปัญหาภายในชาติให้ดีขึ้นและดียิ่ง ๆ ขึ้นไป ไม่ใช่ทำกันเองเหมือนจิตอาสา ต้องมีระบบระเบียบ งบประมาณ หน้าที่ กรอบต่าง ๆ และที่สำคัญ ต้องมีคำสั่งจากหน่วยเหนือ ซึ่งก็คือรัฐบาล ซึ่งจะวางขอบเขตให้ทหารกระทำสิ่งต่าง ๆ ไว้กว้าง ๆ แล้วทหารจะเอาไปปรับใช้ตามที่เรียนรู้กันมา ไม่ว่าจะเป็นการข่าว ยุทธศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ซึ่งจะต้องปรับจากการรบมาเป็นการอำนวยความสะดวกและช่วยเหลือประชาชน
        การที่ออกมาเลือกที่รัก มักที่ชัง กันแบบนี้ผมว่าไม่ยุติธรรมนะครับ ผมเองวิจารณ์รัฐบาลไปหลายอย่างว่าทำงานผิดพลาด เช่น การทำงานไปวัน ๆ ประสานรอยร้าวความขัดแย้งให้กับชุมชนต่าง ๆ ไม่เต็มที่ ทั้งที่เป็นสิ่งที่มนุษย์ธรรมดาก็สามารถทำได้ เพื่อให้ความขัดแย้งทุเลาเบาบางลงไป หรือการทุจริตที่ปล่อยให้บุคคลบางกลุ่มนำของบริจาคไปใช้เองหรือสวมรอยใส่ ชื่อตัวเอง เอาไปแจกผู้ประสบภัย
        ตรงนี้ถือว่าเป็นความผิดพลาดอย่างมากของรัฐบาล แต่จะถึงขนาดที่จะให้ออกนั้นผมว่ามันจะเกินไปหรือไม่
        แล้วที่บอกว่าไม่ศรัทธานักการเมือง (บางกลุ่ม สำหรับสลิ่มที่ปักใจรักนักการเมืองอีกกลุ่มหนึ่ง) หรือกล่าวหาว่านักการเมืองเลวทั้งโคตร อย่างเสื้อบางสี เป็นต้น ผมอยากจะถามหน่อยว่า ถ้าไม่เอานักการเมืองแล้วน่ะ แล้วเราจะไปเอาใคร
        ผมบอกไว้เลยนะว่า ในระบบประชาธิปไตยแบบตัวแทนนั้น แม้ว่านักการเมืองจะเลวอย่างไรก็ตามทีเถอะ เราก็ยังมีระบบการตรวจสอบ ซึ่งการตรวจสอบนั้นสามารถกระทำได้หลายช่องทาง ตามที่กฎหมายให้เรามาว่าเราจะทำอย่างไรได้บ้าง ที่เราจะตรวจสอบนักการเมือง เรามีกฎเกณฑ์กติกาอยู่ ใครทำผิดก็ต้องรับโทษกันไป แล้วประชาชนก็จะรู้ว่าใครเป็นอย่างไร สมัยหน้าจะได้ไม่เลือกเข้าไปอีก
        กระบวนการแบบนี้เป็นกระบวนการทางประชาธิปไตยครับ ซึ่งทั่วโลกก็มี มันทำให้ประชาชนสามารถพบกับประชาธิปไตยที่ดีได้โดยค่อยเป็นค่อยไป เขาก็จะเริ่มเรียนรู้กับมัน และนำไปสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ตามที่เราทุกคนต้องการ ถูกต้อง และเป็นธรรม
        ดังนั้น ผมจึงไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นชุดใด ๆ (ยกเว้นการยึดอำนาจของพระยาพหลพลพยุหะเสนาที่มีจุดประสงค์รักษารัฐธรรมนูญ ของคณะราษฎร) ซึ่งเป็นการ “บั่นทอน” โอกาสการเรียนรู้ทางการเมืองของประชาชน
        พอรัฐประหารเสร็จ ก็จะมีการ “ร่ายยาว” ถึงรัฐบาลที่ถูกโค่นล้มไปต่าง ๆ นานาว่าเลว ทุจริต โกงกินชาติ เป็นต้น แล้วก็จะอธิบายว่าตัวเองทนเห็นบ้านเมืองเป็นแบบนี้ไม่ไหว ก็เลยออกมาช่วยชาติ
        โปรตัวเองว่าดีอย่างโน้นอย่างนี้ แต่สิ่งที่เรารู้กันชัดเจนว่า พอเข้ามาบริหารเองนั้น กลไกการตรวจสอบกลับชำรุดทรุดโทรม ไม่มีความศักดิ์สิทธิ์ เนื่องจากระบบตรวจสอบถูกครอบงำ ทั้งก่อน และหลังรัฐประหาร มีการนำบุคคลที่ตัวเองไว้ใจทำหน้าที่องค์กรตรวจสอบต่าง ๆ และมีหน่วยงานแปลกประหลาดหลายหน่วยงานด้วยกันซึ่งจัดตั้งขึ้นมาใหม่ รวมทั้งคนจำพวกที่บอกทั้งโลกปาว ๆ ว่า “ผมไม่คิดเล่นการเมือง” ทว่า เข้ายุ่งกับการเมืองจนเกินเหตุ มีทั้งหมอ พระ สื่อสารมวลชน ปราชญ์ชาวบ้าน พร้อมโจมตีนักการเมืองและประชาธิปไตยแบบตัวแทนมาตลอด เช่น นาย ต. นาย ป. นาย ส. เป็นต้น
        สรุปคือ คนดีพวกนี้ ไม่มีใครกล้าตรวจสอบ
        บริหารประเทศจนฉิบหายกันอย่างไร ก็ไม่มีใครว่า และใครว่าก็ไม่ได้
        ใช่ หรือ ไม่

        เพราะฉะนั้น ผมจึงไม่เห็นด้วยกับอำนาจนอกระบบใด ๆ และไม่คิดที่จะสนับสนุนคนพวกนี้ เพราะมันมาโดยที่เราไม่รู้ตัว เราไม่ได้เชิญมันมา และเมื่อมันมาแล้วมันก็ทำพิษภัยให้กับประเทศอย่างมหาศาล
        จุดยืนของผมคือ “สนับสนุนนักการเมือง” โดยนักการเมืองที่ผมสนับสนุนนั้นไม่จำเป็นต้องดีแบบเทวดา ดีทุกกระเบียดนิ้ว สิ่งที่ผมจะภูมิใจมากที่สุดก็คือ นักการเมืองผู้นั้นได้มาจากเสียงส่วนใหญ่ เสียงข้างมาก ของประชาชนคนเลือก นั่นละ
        ไม่ใช่นักการเมืองคนนั้น มาจากการพลิกขั้ว มานอกกฎหมาย หรือมาจากอำนาจนอกระบบและวิถีทางที่ไม่เป็นประชาธิปไตย
        คุณจะรับได้หรือไม่ได้ก็แล้วแต่กบาลของคุณ แต่...
        ผม “รับไม่ได้” ครับ !!
        ฉะนั้น ถ้าคิดว่านักการเมืองเลว แต่ระบบมันเป็นอยู่อย่างนี้ หากตัวเองอยากจะเข้าไปเปลี่ยนอะไรก็แล้วแต่ที่ใจตัวเองคิด ก็อย่าไปเล่นการเมือง (ทั้งที่หลอกคนทั้งประเทศว่าไม่ได้เล่น) นอกระบบ เรียกร้องอะไรก็ไม่รู้แปลกประหลาดเลยสิ ก็เข้าสมัครเป็น ส.ส. ส.ว. ให้อยู่ในระบบ ดูซิว่าจะได้รับการยอมรับจากประชาชนหรือเปล่า หรือถ้าคราวนี้ยังไม่ได้ ก็ทำตัวให้ประชาชนนับถือ มีอะไรที่เป็นประโยชน์กับประชาชนและชาติ ทำเข้าไป และให้ทำด้วยใจจริง ไม่ใช่เสแสร้งแกล้งทำเหมือนทุกวันนี้ ถ้าดีจริง ประชาชนจะเลือกเอง
        ไม่ใช่ว่า ผู้ปกครองมาจากไหนก็ไม่รู้ โยนมาจากฟ้า ถีบมาจากดิน แล้วก็ยัดเยียดให้ประชาชนต้องรับสิ่งต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่เขาไม่เอา ไม่ยอมรับ แถมเอาอำนาจไปบังคับ ยุบ ยึด เป็นเผด็จการที่เลวในระดับหนึ่ง

        สิ่งที่ผมรังเกียจที่สุด ก็คือ หลายต่อหลายคนไปด่าประชาชนที่เลือกพรรคพวกที่ตัวเองเกลียดชังขั้นเข้าไส้ว่า “โง่” และพยายามที่จะแบ่งความเป็นคนจากการศึกษา ก็จะหาว่าคนจบ ป.โท ป.เอก มีสติปัญญาดีไตร่ตรองดี วิจารณญาณเป็นเลิศ ถ้าเป็น ป.ตรี ก็พอทำเนา ส่วนพวกจบ ป.4 ม.3 ป.6 จะถูกมองว่าไร้การศึกษา เรียนต่ำ ไม่มีโอกาส ไม่มีปัญญา ก็จะถูกกวาดไปเป็นพวกห่าเหวกเฬวรากไปเสียหมด อาชีพก็คงไม่พ้นพวกรับจ้าง หาแดกหายัดกันไปวัน ๆ หรือไม่ก็ทำงานในระบบขนส่งสาธารณะ เป็นต้นว่า มอเตอร์ไซค์รับจ้าง แท็กซี่ รถเมล์ ซึ่งที่พวกชนชั้นกลางหรือสลิ่มหลายต่อหลายคนนักไม่ขึ้น ก็เพราะว่ารังเกียจที่จะเห็นคนชั้นล่างอยู่ร่วมแห่งหนกัน
        มากกว่าเพราะปัญหาการบริการไม่ดี สกปรก ขับรถแช่ป้าย หรือไม่ก็พุ่งแหลนทะยานไม่ต่างกับแม่มด อาจจะเจอเหตุการณ์ไม่คาดฝันแบบ “เมล์นรกหมวยยกล้อ” เอาก็ได้
        ตอแหลว่าคนบางกลุ่มกำลังจะแบ่งแยกประชาชน ขอถามว่า แล้วที่พวกคุณทำเช่นนี้มันคือ “แบ่งแยก” หรือไม่ ?!

        ตัวอย่างของ “การ แบ่งแยกคน” จาก “การศึกษา” ที่ชัดเจน อยู่ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ซึ่งหลายต่อหลายคนนักเชื่อว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่สมบูรณ์ที่สุด หารู้ไม่ว่า มันได้ซ่อนความอุบาทว์ไว้ภายใน คือ มาตราที่เกี่ยวเนื่องกับองค์กรบริหาร (คณะรัฐมนตรี) และนิติบัญญัติ (รัฐสภา) ได้บัญญัติให้บุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับองค์กรทั้งสองนั้น ต้องจบปริญญาตรีเป็นอย่างน้อย
        เรื่องนี้ผมไม่เห็นด้วยเพราะการศึกษาไม่ได้เป็นตัวบ่งบอกว่าเราจะมีสติคิด ไตร่ตรองดีกว่าคนอื่น หรือทำงานดีกว่าคนอื่น บางที “ประสบการณ์” ก็มาก่อนและสำคัญกว่า อย่างเช่น รับสมัครคนผัดข้าว เขาจะมานั่งดูประวัติไหมว่าจบอะไรมา ก็แค่ถามคำเดียว
        “ผัดข้าวเป็นหรือเปล่า ?”
        เห็นไหมครับ บางทีการศึกษาก็ไม่ได้ช่วยอะไรได้ทุกอย่าง บางทีแค่เรื่องพื้นฐานนี่หลายคนยังทำไม่ได้ แล้วจะไปทำอะไรกับประชาชนแบบเป็นชิ้นเป็นอันได้ ไม่เข้าใจ
        แล้วคนที่มีการศึกษาที่ดีกว่า แต่ดันใช้การศึกษาที่ได้มาทำลายล้างปู้ยี่ปู้ยำกัน ผมจะว่ากับคนพวกนี้อย่างไร คือ พวกนี้จะคิดว่าตัวเองดี โดยฉาบภาพที่หวังดีกับทุกคนเอาไว้เพื่อให้ทุกคนตายใจ บอกปาว ๆ ว่าเพื่อช่วยให้หายโง่ แข็งแรง ปลอดเชื้อการเมืองอุบาทว์ให้ได้ ถามหน่อยเถอะครับว่า แล้วคุณเป็นใครที่บังอาจมาสอนประชาชนให้เป็นไปตามที่พวกคุณคิด แล้วก็บอกว่าตัวเองดี ดีกว่าคนอื่น เอาแค่สามัญสำนึกขั้นธรรมดาก็พอแล้ว คนประเภทยกตนข่มท่านแบบนี้นี่แหละ คิดว่าคนเขาจะทนคบได้ไหม
        ประเภทที่มองว่า การศึกษามักจะแปรผันตรงกับจิตสำนึก จริยธรรม คุณธรรม และมองว่าประชาชนส่วนใหญ่ในตอนนี้ ยังไม่มีการศึกษาที่ดีพอ เพราะฉะนั้น จึงยังไม่ให้อำนาจเต็ม ๆ ในการให้ประชาชนปกครองประเทศ จึงต้องมีตัวช่วย มีอุปสรรค คือ การเข้ามาของกลุ่มหรือคณะบุคคลที่หวังดีต่อประเทศ ทำเป็นขึงขัง กวาดขจัดปัดเป่าเสนียดจัญไรของประเทศจนคนประเภทหนึ่งเอาไปชื่นชมอยู่สามวัน เจ็ดคืน ถึงกับถ่ายรูป มอบดอกไม้ กลายเป็นสิ่งประหลาดในโลกประชาธิปไตย
        เอาง่าย ๆ ไม่อ้อมค้อม...
        “รัฐประหาร” นั่นเอง
        ก็เพื่อดึงประชาชนให้พ้นจากวังวนนักการเมืองอุบาทว์ จากแนวคิดที่ว่า “นักการเมืองเลว” ทำเป็นโอดโอยครวญครางเหมือนมีใครมาบีบหัวนมตัวเองเมื่อมีรัฐบาลที่ตัวเองจง เกลียดจงชังเข้ามาบริหารประเทศ แต่เมื่อตัวเองได้เป็นกันบ้าง
        พากันเอา “ถุงตีน” ยัดปากตัวเองกันเป็นแถว

        ความคิดเช่นนี้ คือ แนวคิดที่ขัดกับหลักการประชาธิปไตยสากล ซึ่งมันมีวิวัฒนาการของมันมาควบคู่กัน ฝ่ายประชาธิปไตยก็จะหาทางคิดค้นวิธีการต่าง ๆ ที่จะทำให้เกิดสิทธิเสรีภาพขึ้นในประชาชน อีกฝ่ายหนึ่งก็จะหลอกประชาชนให้เชื่อ ในตำนาน ในกฤษดาภินิหารต่าง ๆ และยิ่งนานวัน ก็จะเกิดความซับซ้อน ความแนบเนียน มากขึ้น ผิดจริงอาจจะเห็นว่าไม่ผิด เรื่องไม่เป็นเรื่องก็ทำให้เป็นเรื่อง ขายจนหลายคนโดนหลอก จมอยู่ในปลักกระบือมานักต่อนัก
        ไม่ละ อยากจะบอกเพื่อน ๆ ทุกคนว่าถ้าจะทำตัว “โง่ไร้เดียงสา” อยู่อย่างนี้ก็ตามใจครับ ก็เพียงแค่อยากจะให้ข้อเตือนว่า ผมไม่ใช่คนในกลุ่มการเมืองใด เหมือนที่หลายคนพยายามจะบอกว่า จะต่อสู้ทำไม มันไม่ใช่เรื่องของเรา
        ทุกอย่างที่เรามี มันเกิดจากการต่อสู้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นระบอบประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพต่าง ๆ วัฒนธรรม ค่านิยม กฎเกณฑ์ ข้อจำกัดต่าง ๆ หลายอย่างถูกทำลายลง หากไม่มีการต่อสู้ เราคงไม่มีอะไรต่อมิอะไรที่เราถืออยู่ในมือ เผลอ ๆ เสื้อผ้าของเราจะไม่มีเอาเสียก็ได้
        ถ้าไม่คิดที่จะต่อสู้อะไร นั่นคือ คุณยอมแพ้ต่อโชคชะตา ที่บังเอิญมีคนเป่าหู แล้วปลอบว่ามีเท่านี้ก็ดีแล้ว จงก้มหน้าดำเนินชีวิตต่อไปเถิด เดี๋ยวฉันจะดูแลเธอเอง
        ผมไม่ยอมให้ตัวผมเป็นเช่นนั้นเป็นอันขาด
        ถ้าอย่างนั้นแล้ว เราจะมี “ปัญญา” ไปทำไมกันก็มิทราบได้ ?!

        ขอกระแทกหูกระแทกตาเพื่อน ๆ เป็นครั้งสุดท้ายเถอะ...
        “ขอโทษเถอะเพื่อนเอ๋ย...
        ...กูรักนักการเมืองว่ะ...!!”

26 พฤศจิกายน 2554

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น