วันพฤหัสบดีที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

"วาเลนไทน์" และความเป็นห่วงที่เราไม่ต้องการ


        พอเข้าเทศกาลวันวาเลนไทน์ทีไร ไม่ว่าจะปีไหนก็ตามทีเถอะ เรา ๆ ท่าน ๆ ก็จะได้พบบรรดาคำแนะนำ คำตักเตือน ที่แสดงถึงความเป็นห่วงของบรรดาผู้ใหญ่ที่เกรงว่าเยาวชนจะได้รับผลกระทบจาก วันดังกล่าวเป็นอย่างมาก จึงทำให้เห็นคำพวกนี้ออกตามสื่อสารมวลชน Social Media หรือพูดกันแบบปากต่อปาก เกลื่อนกลาดจนกระทั่งรกรุงรังไปหมด
        ผู้ใหญ่ที่มีหัวไปในทาง Conservative หรืออนุรักษ์นิยมจ๋าก็จะดาหน้าออกมาห้าม ด่าทอ คัดค้านต่อต้านวันวาเลนไทน์ โดยความคิดที่ว่าวันดังกล่าวจะทำให้เกิดการเสียตัวของผู้หญิงเป็นจำนวนมาก หรือไม่ก็อาจจะเกินเลยทำให้ “ท้อง” ขึ้นมา
         เราอาจจะเห็นได้ง่ายที่สุดนั่นก็คือ พ่อแม่ของเรานั่นเอง ที่พอใกล้หน้านี้ทีไรก็จะคอยถามว่า มีแฟนหรือเปล่า แล้วคำแสดงความเป็นห่วงก็จะพรั่งพรูออกมาจากปาก ถามว่าความเป็นห่วงของพ่อแม่ที่มีให้ต่อเราผิดไหม ไม่ผิดครับ
        แต่คำพูดแบบนี้มันเป็นคำพูดแบบดาด ๆ ไม่ Make Sense อะไรเลย จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้บุตรหลานเบื่อหน่ายจนในที่สุดก็ “เหม็นขี้หน้า” ผู้ปกครองตัวเอง (ซะงั้น)


        ถ้าผมไม่มีความรู้สึกว่าอยู่ในสังคมที่แท้จริง แล้วก็ถูกสื่อกระแสหลักครอบงำด้านวัฒนธรรมจนกลายเป็น Conservative ข้อเขียนในลักษณะท้าทายสังคมของผมคงไม่ออกมาสลอนในเฟซบุ๊คตั้งแต่ปีที่แล้วหรอกครับ
        แต่ผมได้เห็นค่านิยมต่าง ๆ ของชนชั้นกลางที่ “อรรถ บุนนาค” ยกคำมาเปรียบได้ “แซ่บเว่อร์” ว่า “ศีลธรรมระดับกระแดะ” ผมจึงสงสัยและต้องตั้งคำถามขึ้นมาเพื่อให้รู้ว่ามันเกิดอุดมการณ์หรือ มายาคติในเรื่องนั้น ๆ อย่างไรบ้าง

        ก็ปรากฏ ขาประจำเจ้าเก่า ผู้ที่มีผลงาน (ในทางปกป้องศีลธรรม ประเพณีวัฒนธรรมไทยอันดีงาม ?) โชกโชน นั่นคือ ศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม แห่งกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งมี ลัดดา ตั้งสุภาชัย เป็นผู้อำนวยการ ซึ่งควันไฟเพิ่งจางจากกรณี “ซิมซิมิ” ที่ออกมาแบน คัดค้าน ต่อต้าน เนื่องด้วยเห็นว่าใช้คำไม่สุภาพ จนเยาวชนพากันจวกยับเยินว่า “คุณเป็นใคร จะมาเฝ้าระวังแทนทำไม พ่อแม่ก็ไม่ใช่”

        คือ เยาวชนก็ไม่ได้โง่อย่างที่คุณชอบคิดนะครับ เขาก็มีแนวคิดเป็นของตัวเอง เขาก็พอที่จะรู้ว่าผิดชอบชั่วดีเป็นยังไง ไม่ใช่เด็กผู้หญิงทุกคนจะใจแตกกันหมด จะปล่อยตัวเองท้องไม่มีพ่อรับผิดชอบกันซะหมด ทำเหมือนเด็ก ๆ เขาโดนควักมันสมองสองกลีบออกไปหมด
        ขอโทษ...มันเป็นการ “ดูถูก” สิทธิเสรีภาพของมนุษย์นะครับ
        ปรากฏว่าศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรมก็พยายามทำตัวเองให้ “เหนือ” คนอื่น อยู่เรื่อย พอไฟเริ่มไหม้ฟางจนหมดเพลิง ก็เริ่มราดน้ำมันลงบนกองไฟอีกแทบไม่ต้องให้หยุดพัก ล่าสุด ก็มีการออกคำเตือนผู้ปกครอง ไม่ให้ปล่อยบุตรหลานออกนอกบ้านเกินสี่ทุ่มในวันวาเลนไทน์ นั่นคือ ต้องกลับบ้านก่อนสี่ทุ่มนั่นเอง
        ก็ปรากฏรายการใหม่ของ Voice TV ชื่อว่า “Divas Café” ซึ่งแน่นอนว่าถ้าไม่มี คำ ผกา หรือ ลักขณา ปันวิชัย นักประวัติศาสตร์นิพนธ์และนักเขียนไฟแรงร้อนเร่าคนนี้คงไม่มีเรตติ้งพุ่งกระฉูดกันอย่างแน่นอน
        ในการจัดรายการเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา คำ ผกา ก็ จัดเต็ม กระทรวงวัฒนธรรมอย่าง แซ่บเว่อร์ เหมือนเช่นเคย โดยควักเอามโนสันดานแบบอนุรักษ์นิยมตกขอบมาประจานให้เสรีชนรับรู้รับทราบ ดังที่ได้พูดในรายการดังนี้
        ...กระทรวง วัฒนธรรมของไทยกลัวและเกลียดวันวาเลนไทน์มาก กลัวว่าม่านรูดจะเต็ม กลัวเด็กจะไปเอากันในวันวาเลนไทน์ กลัวจะมีการติดเอดส์การท้องก่อนแต่งในวันนี้อย่างมากมายมหาศาล...เอ่อ กระทรวงวัฒนธรรมคะ เค้าเอากันวันวาเลนไทน์เนี่ยดีกว่าไปเอากันวันมาฆบูชานะคะ หรือมันเอากันปีละวันก็ดีกว่าเอากันปีละ 364 วันนะคะ...

        จัด ได้แรงเหมือนเดิม
        แซ่บเว่อร์ ตามสไตล์ คำ ผกา
        คือ อย่างน้อยเราก็จะเห็นว่าผู้ใหญ่หมกมุ่นอยู่กับการห้าม การค้าน เหมือนกับจะคิดแทนเด็กไปทุกอย่างซึ่งมันเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะควร แล้วโดยเฉพาะบุคคลในศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรมหารู้ไม่ว่าท่านกำลัง “ฝืน” ใจตัวเองโดยไม่รู้สึกว่าตัวเอง “ฝืน”
        ท่านคงลืมชีวิตในวัยเด็กไปนะว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง แต่ถ้าจะยืนยันว่าในวัยเด็กมันเป็นเช่นนั้นจริง ๆ คงจะพิลึกพิลั่นอย่างพิกล
        แล้วผลงานของศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรมแทบทุกสิ่งก็เป็นสิ่งที่ค้านสังคมมาก ซึ่งเราจะเห็นแนวคิดที่จะเป็นไปในทางอนุรักษ์นิยมอย่างชัดเจน เปลี่ยนไม่ได้ ดัดแปลงไม่ได้ ประยุกต์ไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่ในบริบทของความหมายคำว่า “วัฒนธรรม” แม้แต่จะให้แปลจากภาษาบาลีสันสกฤตแท้ ๆ ก็มีความแตกต่างกับที่ท่านกำลังคิดอย่างมาก
        คือ คำว่า “วัฒนธรรม” มันเป็นคำที่สมาสกันระหว่าง “วัฒน” กับ “ธรรม” ซึ่งเป็นสันสกฤตทั้งคู่ โดยคำว่าวัฒนก็คือ ความเจริญงอกงาม พัฒนา ดัดแปลง ประยุกต์ ประกอบกับคำว่าธรรมนั่นก็คือความเป็นไปต่าง ๆ อาจจะเป็นสัจธรรม (ความจริง) จริยธรรม (ความดี) หรือบัญญัติธรรม (หลักสมมติที่กำหนดไว้ให้สังคมปฏิบัติ เช่น ประเทศไทยกำหนดให้ขับรถทางซ้าย) เป็นต้น
        แค่นี้เราสามารถสรุปได้เลยว่าวัฒนธรรมต้องมีการเปลี่ยนแปลง พัฒนา มันจะย่ำอยู่กับที่ไม่ได้ แต่ที่ผ่านมาเราเข้าใจคำว่า “วัฒนธรรม” ผิดโดยตลอด โดยเราจะเอามารวมมั่วไปหมดกับประเพณี ขนบธรรมเนียม ทั้ง ๆ ที่มันเป็นคนละระดับกัน เหมือนจะให้เทียบกับหน่วยงานทางปกครอง “วัฒนธรรม” มีฐานะเป็นกระทรวง ส่วนประเพณี ขนบธรรมเนียมและอื่น ๆ อะไรต่อมิอะไรมันเป็นสับย่อยของวัฒนธรรม จึงมีฐานะเป็นกรม
        จึงไม่เห็นอะไรที่จะไปลงตัวกับแนวคิดกับผู้ใหญ่หัวหงอกที่มีความคิดแบบอนุรักษ์นิยมอย่างแรงกล้าได้เลย
        บางคนอาจจะมีความหวังดีว่า แหม ถ้าไม่ถูกต้องเราก็ไปอธิบายให้เขาเข้าใจสิว่าปัจจุบันมันเป็นอย่างไรกันแล้ว ผมว่าทำแบบนี้คงไม่ได้ผลหรอกครับ เพราะมันไปเข้าสำนวนไทยที่ว่า “ไม้แก่ดัดยาก” ซะแล้ว
        หัวสมองแบบนี้คงเปลี่ยนอะไรง่าย ๆ อยู่หรอก เว้นแต่ผู้ใหญ่พวกนี้ (โดยเฉพาะผู้ชาย) จะหัวงูเอา

        เด็กสมัยนี้ไม่ได้โง่เหมือนที่พวกคุณคิดกันอีกแล้วครับ
        ผมเดินไปตามสถานศึกษาต่าง ๆ พบเด็กผู้หญิงหลายคนทำท่าทำทางกระแดะ แรด เข้าใจได้เลยว่า “เคย” แล้ว แต่ถามว่าเด็กผู้หญิงเหล่านี้ “ผิดไหม”
        ผมจะบอกว่าเด็กผู้หญิงเหล่านี้ผิดได้ยังไง เพราะถึงแม้จะโดนเอามาก่อน แต่ก็รู้จักป้องกันระวังตัว ไม่ให้เกิดท้องขึ้นมาได้ เว้นแต่บางคนจะ “เพลิน” มากเกินไปจนไม่รู้ตัวเท่านั้น แต่ก็มีจำนวนน้อย
        แต่อยากจะบอกผู้ใหญ่หัวหงอกหัวดำที่วัน ๆ เอาแต่เป็นห่วงจนลืมหน้าที่อื่น ๆ ที่ตัวเองควรจะหันไปทำบ้างว่า เป็นห่วงน้อย ๆ บ้างก็ได้ครับ เด็กสมัยนี้ไม่ได้โง่เหมือนสมัยก่อนแล้ว เขาก็มีวิธีการป้องกันของเขา ไม่ใช่นิสัยสมัยก่อนซึ่งปัจจุบันจะหาได้จากละครน้ำเน่าซึ่งในที่สุดแล้วก็ ยังคงค่านิยมเก่า ๆ วัฒนธรรมเก่า ๆ จนห่างไกลจากความเป็นจริงไปทุกที ๆ (ก็คงจะมีแต่เรยาเท่านั้นที่กล้าฉีกแนวจนโดนผู้ใหญ่พวกนี้แหละจวกหนัก เพราะเรยาไม่ยอมเดินตามระบบระเบียบแบบแผน อุดมการณ์หรืออุดมคติของละครน้ำเน่า ซึ่งจำง่าย ๆ ว่า พระเอกต้องเป็นสุภาพบุรุษ พระเอกกับนางเอกเจอกันทีแรกต้องเดินชนกัน แล้วก็ชอบทะเลาะกัน พระเอกข่มขืนนางเอกแต่นางเอกกลับยอมพระเอก เป็นต้น)

        เพราะฉะนั้น วันวาเลนไทน์นี้ บรรดาผู้ใหญ่ในศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรมควรจะเอาพละกำลังที่ตัวเองมี ไปสำรวจหนังหน้าตัวเองว่ายังพอเข้าสังคมปัจจุบันได้หรือไม่ ซึ่งถ้าเข้ากันไม่ได้ก็อย่าดันทุรัง ปล่อยให้วัฒนธรรมมันพัฒนาของมันเองดีกว่า ส่วนตัวเองก็อยากจะทำอะไรในบั้นปลายชีวิตก็เชิญ เลี้ยงหลานอยู่บ้าน ฟังเพลงสุนทราภรณ์ มีงานก็ออกไปลีลาศ ก็แล้วแต่ ไม่ใช่มานั่งกัดจิก ขัดขวางไม่ให้วัฒนธรรมมันเติบโต
        ผิดทั้ง ความหมาย และผิดทั้ง เจตนารมณ์
        ผิดสองต่อ !!

13 กุมภาพันธ์ 2555

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น